17 ก.พ. – สมาคมธนาคารไทย ผนึกหน่วยงานรัฐ-เอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน สร้างความเสียหายแล้วกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่ผู้เสียหายเข้าร้องสำนักข่าวไทย ถูกมิจฉาชีพ ตั้งแก๊งหลอกลงทุน อ้างชื่อคนดัง เสียหายหลายล้านบาท
กลุ่มผู้เสียหาย จากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงลงทุนหลายรูปแบบ โดยแอบอ้างชื่อคนดัง เช่น ดีเจมะตูม, นายกรัฐมนตรี จนกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล เข้าร้องเรียนผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย หลังคดีไม่คืบหน้า โดยระบุว่า อยากร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐให้เร่งดำเนินการ เพราะกลุ่มผู้เดือดร้อนมีเป็นจำนวนมาก ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท มากกว่า 34 คดี
ก้ง คนร้อยเอ็ด ยูทูบเบอร์ชื่อดัง กล่าวว่า หลังจากเป็นข่าว มีผู้เสียหายติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก พบว่ามีการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนลอตเตอรี่ การลงทุนเพื่อจำหน่ายถุงมือยาง การลงทุนค้าทองคำ ซึ่งผู้หญิงคนนี้จะมีการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เพื่อไม่ให้เกิดการสืบค้นจากกูเกิล และทำมาตีสนิท อ้างคนดังในรูปแบบต่างๆ หลังจากนั้น เมื่อได้เงินไป ก็จจะเบี้ยวเงิน เปลี่ยนชื่อเพื่อไปหลอกคนอื่นต่อไป โดยทำเป็นกระบวนการ ตั้งกลุ่มซื้อ-ขายสินค้า และมีทนายใช้ความรู้ทางกฎหมายเข้ามาหลอกลวงด้วย นับเป็นการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายมาหลอกลวง ซึ่งแม้จะมีการติดตามมีการติดกำไลอีเอ็มก็ยังก่อคดีได้อีก จึงอยากให้ภาครัฐเร่งรัดคดี เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพลอยตัวสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นต่อไป การที่รัฐเตรียมออกกฎหมายเพื่อเร่งรัดปราบบัญชีม้า ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ใจความสำคัญคือ จะทำอย่างไรไม่ให้คนผิดก่อคดีได้อีก
ด้านสมาคมธนาคารไทย ผนึกหน่วยงานรัฐ – เอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน
นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเพื่อช่วยประชาชน โดย กสทช. ,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง LINE ได้ร่วมกันตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร , ควบคุมและจัดการ ชื่อผู้ส่ง SMS ปลอม ,ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย พร้อมหารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุม ,เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน ด้วย Biometrics Comparison
นอกจากนี้ หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ . – สำนักข่าวไทย