กรุงเทพฯ 12 ม.ค.- “ศักดิ์สยาม” ดันเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เร่งลงทุนโครงข่ายคมนาคมในปี 2566 หวังดันจีดีพีประเทศฟื้นตัว 2.35% เพิ่มขีดความสามารถพลิกโฉมประเทศ พร้อมกางแผนลุยโปรเจกต์ปีนี้ ครอบคลุมบก-น้ำ-ราง-อากาศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา Seminar 2022 By Transport Journal และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “THAILAND SEAMLESS : MOVING FORWARD & GO GREEN” มิติใหม่ “คมนาคม” ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงานสัมมนา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จากนโยบายภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงการเดินทาง ได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายมิติไปพร้อม ๆ กัน ทั้งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมครอบคลุม เชื่อมต่อ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยกระทรวงฯ มีแผนที่จะลงทุนในอนาคตทั้งแผนระยะกลางและระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความพร้อมสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และสามารถเข้าถึงการบริการได้ง่ายและเท่าเทียม รวมถึงรูปแบบการพัฒนาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ว่า ประเทศไทยมีเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ด้วยเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อให้เป็นรูปแบบการเดินทางหลักสำหรับการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการขนส่งทางน้ำ และการขยายท่าอากาศยานให้รองรับ การเดินทางทางอากาศได้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาระบบการคมนาคมของไทยไปสู่อนาคต ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้
- โครงการแผนแม่บทการพัฒนา MR-Map ที่มุ่งเน้นการกระจายความเจริญไปในพื้นที่ ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยโครงข่าย MR-Map ประกอบด้วย โครงข่ายทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ซึ่งมีการพัฒนา อยู่ในพื้นที่เดียวกัน สำหรับการออกแบบแนวเส้นทาง MR-Map จะเป็นแนวตรงเพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน และลดการแบ่งแยกชุมชนออกเป็นสองฝั่ง
- โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Land Bridge) ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงสองฝั่งทะเลเป็นแบบท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) และมีการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาช่วยในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการลงทุน คาดว่าจะเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบในหลักการได้ภายในเดือนมกราคม 2566 โดยตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573
- การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนน กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ 1) การปรับความเร็วสูงสุดบนทางหลวงเป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเส้นทางที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว 11 สายทาง ระยะทางรวม 218 กิโลเมตร 2) การพัฒนานำระบบ M-Flow มาใช้ในการจัดเก็บค่าผ่านทาง โดยเป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ทำให้รถสามารถวิ่งผ่านด่านได้อย่างสะดวก คล่องตัว ไม่ต้องหยุด หรือชะลอรถ ช่วยแก้ปัญหารถติดบริเวณหน้าด่าน ปัจจุบันเปิดใช้งานแล้ว 4 ด่าน บนมอเตอร์เวย์ M9 โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังขยายผลการพัฒนาระบบเพื่อใช้กับด่านบนทางพิเศษอีก 3 ด่าน ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2566 3)
การพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงภูมิภาค อาทิ มอเตอร์เวย์M6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ และมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน – เอกชัย – บ้านแพ้ว 4) การพัฒนาโครงข่ายถนนสายใหม่ เชื่อมโยงภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ และถนนแนวใหม่เชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม และ 5) การพัฒนาโครงข่ายทางถนนมอเตอร์เวย์/ทางพิเศษในอนาคต อาทิ ทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – วงแหวนรอบนอกพรุงเทพฯ รอบที่ 3 และทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้าง Missing Link เพื่อเติมเต็มโครงข่าย ทางถนนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมทำให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากการพัฒนาโครงข่ายทางถนนแล้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระทรวงฯ ได้เริ่มให้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) ในหลายเส้นทาง ปัจจุบันมีรถโดยสารไฟฟ้าให้บริการแล้ว จำนวน 318 คัน และภายในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,250 คัน
- การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางราง กระทรวงฯ มีนโยบายในการมุ่งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางราง ทั้งการเดินทางในเมือง การเดินทางระหว่างเมือง และการขนส่งสินค้า โดยในปัจจุบันได้เปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้ว จำนวน 11 สาย ระยะทางรวม 212 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 สาย ระยะทางรวม 114 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน และจะเปิดประมูลอีก 4 สาย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2574 สำหรับอนาคตมีแผนดำเนินการเพิ่มเติมอีก 8 สาย อาทิ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ และช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แก้ไขปัญหาจราจร และปัญหามลพิษ
- การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางน้ำ กระทรวงฯ เร่งผลักดันการพัฒนาท่าเรือ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งทางน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Automated Container Terminal) การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญ (Marina) ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และโครงการเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ผลักดันการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบัน มีเรือโดยสารไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 51 ลำ และจะเพิ่มเป็น 69 ลำ ในปี 2566
- การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางอากาศ กระทรวงฯ มีแผนในการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศให้มากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางทางอากาศ และเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่ประเทศไทยว่าจะมีสูงถึง 200 ล้านคน ในปี 2574 กระทรวงฯ จึงมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยาน ดังนี้ 1) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดยเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี 2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15.9 ล้านคนต่อปี 3) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ในปี 2570 และ 4) การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงฯ มีวงเงินลงทุนทั้งในและนอกงบประมาณภาคคมนาคม จำนวน 124,839 ล้านบาท สามารถจำแนกตามแหล่งเงินได้เป็น เงินงบประมาณ 35,396 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ (รายได้รัฐวิสาหกิจ เงินกู้ และ PPP) จำนวน 89,443 ล้านบาท ซึ่งจากแผนการลงทุนตามแผนปี 2566 จะทำให้เกิดการจ้างงานและมีการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคมและขนส่งอย่างต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพให้เกิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้าอย่างก้าวกระโดดต่อไป.-สำนักข่าวไทย