นนทบุรี 6 ม.ค.-กรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้ธุรกิจขึ้นแท่นดาวเด่นปี 2566 จากการกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติร่วมกับโควิด-19 การเปิดประตูของแต่ละประเทศที่กลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น การปรับตัวของผู้บริโภค และการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ย้ำ 3 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ 2. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การประชุม การจัดเลี้ยง และ 3.กลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แนะนักลงทุนมองหาโอกาสเร่งสร้างความมั่งคั่งได้ในอนาคต
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ติดตามสถานการณ์การค้ามาโดยตลอด ประกอบกับวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในแต่ละกลุ่มเพื่อนำมาวางนโยบายส่งเสริมธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต สำหรับปี 2566 ได้นำข้อมูลธุรกิจช่วงปีที่ผ่านมาวิเคราะห์ร่วมกับสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย.65 งบการเงินและผลประกอบการของธุรกิจ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจด้วย โดยมีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตตลอดปีจำนวน 3 กลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็นธุรกิจ 8 ประเภท ซึ่งเป็นโอกาสของนักลงทุนที่น่าจับตา และยังมีปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้ขยายตลาดออกไปได้ไกล แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โลกจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่ถ้ามองกลับมุมจะเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้ทันและวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจจากการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน
สำหรับธุรกิจที่มีทิศทางที่สดใสในปี 2566 มีดังนี้ กลุ่มที่ 1 ธุรกิจเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ (ไลฟ์สไตล์) สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันที่เน้นความคล่องตัว สะดวกสบาย แบ่งเป็นธุรกิจ 4 ประเภท คือ 1) อาหารแช่แข็ง อาทิ สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ อาหาร ผลไม้และสัตว์ พบว่า ปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 99 ราย เพิ่มจากปี2564 จำนวน 87% ทุนจดทะเบียนรวม 321 ล้านบาท 2) ธุรกิจด้านสุขภาพ และความงาม อาทิ บริการทางการแพทย์สปาและความงาม และสถานที่ออกกำลังกาย พบว่า ปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 1,262 ราย เพิ่มจากปี 2564 จำนวน 70% ทุนจดทะเบียนรวม 2,787 ล้านบาท 3) ธุรกิจด้านยาสมุนไพร อาทิ ปลูกพืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค ขายเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พบว่า ปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 2,126 ราย เพิ่มจากปี 2564 จำนวน8% ทุนจดทะเบียนรวม 4,992 ล้านบาท และ 4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง อาทิ รับดูแลสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์พบว่า ปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 468 ราย เพิ่มจากปี 2564 จำนวน 36% ทุนจดทะเบียนรวม 2,796 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การประชุม การจัดเลี้ยง ได้รับอานิสงส์จากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลงและนโยบายส่งเสริมให้เกิดการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศ การเปิดประเทศของจีนในปีนี้ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการจัดงานประชุมใหญ่ และงานจัดแสดงสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีแนวโน้มขาขึ้น 2 ประเภท คือ 1) ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เช่น นำเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหาร และที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 4,852 ราย เพิ่มจากปี 2564 จำนวน 82% ทุนจดทะเบียนรวม 11,003 ล้านบาท และ 2) ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดงาน การประชุม กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดเลี้ยง จัดประชุมการแสดงธุรกิจ/สินค้า การถ่ายภาพ โดยปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 1,830 ราย เพิ่มจากปี 2564 จำนวน 20% ทุนจดทะเบียนรวม 2,773 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3 ธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม จากเทรนด์ตลาดโลกที่หันมาแข่งขันด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า นวัตกรรมต่างๆ ที่สร้างมาเพื่อทดแทนการใช้วัสดุจากธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 2 ประเภท คือ 1) ธุรกิจการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การนำวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ การให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม โดยปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 133 ราย เพิ่มจากปี 2564 จำนวน 51% ทุนจดทะเบียนรวม 405 ล้านบาท และ 2) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ผลิตยานยนต์ส่วนบุคคลและยานยนต์ชนิดอื่นๆ ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง สอดรับกับยอดการจองยานยนต์ไฟฟ้าในงาน Motor Expo 2022 ที่สูงถึง 16% ของยอดจองในงานทั้งหมดโดยปี 2565 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 62 ราย จำนวนรวมของธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 55% ทุนจดทะเบียนรวม 5,923 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธุรกิจ 8 ประเภทที่กล่าวในข้างต้นมีจำนวนธุรกิจคงอยู่รวมกันทั้งสิ้น 94,035 ราย ทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,326,042 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ธุรกิจอาหารแช่แข็ง จำนวน 838 ราย ทุนจดทะเบียน 55,875 ล้านบาท 2) ธุรกิจด้านสุขภาพ และความงาม จำนวน 7,707 ราย ทุนจดทะเบียน 47,896 ล้านบาท3) ธุรกิจด้านยาสมุนไพร จำนวน 14,418 ราย ทุนจดทะเบียน 112,678 ล้านบาท 4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงจำนวน 2,951 ราย ทุนจดทะเบียน 29,330 ล้านบาท 5) ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว จำนวน 45,785 ราย ทุนจดทะเบียน794,047 ล้านบาท 6) ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดงาน การประชุม กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20,421 ราย ทุนจดทะเบียน114,121 ล้านบาท 7) ธุรกิจการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,158 ราย ทุนจดทะเบียน 10,302 ล้านบาท และ 8) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 757 ราย ทุนจดทะเบียน 161,789 ล้านบาทเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย