กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-กระทรวงพาณิชย์ จะหนุนให้สินค้าประมงอินทรีย์ในวิสาหกิจชุมชนประมงอินทรีย์ใน ต.แหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการขายออนไลน์ จับตลาดผู้บริโภคที่ชอบกินอาหารคลีน เตรียมประสานแฟรนไชส์และร้านอาหารที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซื้อวัตถุดิบไปใช้ เพื่อยกระดับเป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพ
น.ส.รัตนา เธียร์วิศิษฎ์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลพาณิชย์ภาค 4 จังหวัด สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยองและตราด เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้สินค้าประมงอินทรีย์ ต.แหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ จำหน่ายผ่านอี-คอมเมิร์ซ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ทางการค้าสินค้าประมงอินทรีย์จากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน มีความต้องการสินค้าใหม่ๆ และกระแสรักษาดูแลสุขภาพมีความต้องการสามารถหาซื้อได้ผ่านออนไลน์ ช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้หาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้ผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าตรงไปยังผู้บริโภคได้เลยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันในการจัดให้มีการเจรจาธุรกิจ (บิสสิเนส แมชชิ่ง) ระหว่างชาวประมงกับธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และร้านอาหาร ที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้นำวัตถุดิบประมงอินทรีย์เข้าไปจำหน่ายในธุรกิจ เป็นการยกระดับแฟรนไชส์และร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะแต่เดิม แฟรนไชส์ร้านอาหารหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร ส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบอินทรีย์ คือ ผัก ผลไม้ออแกนิกส์ แต่พวกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำระบบอินทรีย์ ยังมีใช้กันไม่มาก หากผลักดันประมงอินทรีย์เข้าไปเป็นวัตถุดิบได้ ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจแต่ยังช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงด้วย
น.ส.รัตนากล่าวว่า กลุ่มผู้เลี้ยงประมงอินทรีย์ใน ต.แหลมฟ้าผ่า ยังมีการเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง แต่เป็นเพียงร้านเล็กๆ และใช้วัตถุดิบจากกลุ่มมาทำอาหารขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงฯ มองว่าไม่เพียงพอ โดยในส่วนของร้านจำหน่ายอาหาร จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งรูปแบบของร้าน การตกแต่ง และจะต้องนำช่องทางการสื่อสารโซเซียลมีเดีย มาใช้ในการโฆษณาร้าน เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่สำรวจการจัดทำ “ประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบบอินทรีย์” ที่ ต.แหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 1,000 ไร่ จุดเด่นที่ชาวบ้านในพื้นที่ มีการทำประมง โดยมีสินค้าประมงทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา โดยชาวบ้านได้ทำการปรับพื้นที่จากเดิมที่ทำนาเกลือ มาเป็นการทำประมงอินทรีย์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า ประมงอินทรีย์เป็นจุดขายใหม่ จึงได้เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพื่อให้สินค้ามีการจำหน่ายออกสู่ตลาดได้มากขึ้น-สำนักข่าวไทย