กรุงเทพฯ 4 ก.ย.- เรื่องค่าโดยสารแท็กซี่ที่เป็นประเด็นขณะนี้ หลังจากกระทรวงคมนาคม ยอมรับอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องต้นทุนและรับฟังความเห็นประชาชน ขณะที่ผู้ประกอบการออกมาเคลื่อนไหวแล้ว ขอปรับราคามิเตอร์เริ่มต้นอีก 10 บาท
ประเด็นเรื่องค่าโดยสารแท็กซี่นี้ เริ่มจากที่กระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่นี้ ยอมรับว่ากำลังพิจารณา ย้ำว่าจะพิจารณาอัตราค่าโดยสารของแท็กซี่มิเตอร์ที่เหมาะสม และศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน นอกจากรับฟังความเห็นของประชาชนแล้ว ก็จะเรียกผู้ประกอบการสมาคมแท็กซี่ต่างๆ มาหารือ เพื่อให้ข้อสรุป ก่อนตัดสินใจเรื่องนี้
ทั้งนี้ การรวบรวมข้อมูลและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม กระทรวงคมนาคม เคยมอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ดำเนินการศึกษาถึงอัตราที่เหมาะสม จากข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ไม่ได้ปรับราคาค่าโดยสารมานับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแท็กซี่ได้รับผลกระทบผู้โดยสารลดฮวบ มีผู้ขับแท็กซี่ออกจากระบบไปแล้ว 25% ข้อมูลทีดีอาร์ไอระบุด้วยว่า ผู้ขับรถแท็กซี่มีอัตราเที่ยววิ่งเฉลี่ยต่อวันลดลง จากวันละ 9 เที่ยว เหลือ 6 เที่ยว และหากวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือซีพีไอ ตั้งแต่ปี 2557 พบว่าปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 7% อันนี้น่าจะกระทบกับทุกสาขาอาชีพ ไม่เฉพาะผู้ขับแท็กซี่
แท็กซี่ขอปรับราคา มิเตอร์เริ่มต้นอีก 10 บาท
คณะทำงานบริหารร่วม 4 สมาคม เสนอขอปรับอัตราค่าโดยสาร โดยรถเล็กเครื่องยนต์ 1600-1800 ซีซี 1 กิโลเมตรแรก 45 บาท รถใหญ่เครื่องยนต์ 2000 ซีซี ขึ้นไป 1 กิโลเมตรแรก 50 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ต่ำกว่า 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง คิด 5 บาท/นาที กรณีการจ้างผ่านท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เรียกเก็บค่าจ้างหรือ Service Charge รถแท็กซี่ขนาดเล็กจากเดิม 50 บาท ปรับเพิ่มเป็น 75 บาท และรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ จากเดิม 50 บาท เพิ่มเป็น 95 บาท
ทั้งนี้ จากปัจจุบันทั้งรถเล็กรถใหญ่เริ่มต้นที่ 35 บาท กิโลเมตรที่ 2-10 คิดเพิ่มกิโลเมตรละ 5.50 บาท ส่วนกรณีจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร หรือผ่านแอปพลิเคชันเก็บเพิ่มอีก 35 บาท โดยผู้ประกอบการขอความเห็นใจ ระบุถึงความจำเป็นต้องปรับค่าโดยสาร
ส่วนประเด็นที่มีการระบุว่า ปัจจุบันผู้โดยสารบางส่วนยังไม่พอใจบริการของแท็กซี่โดยสาร ที่มีผู้ขับรถบางรายชอบปฏิเสธผู้โดยสาร ทางผู้ประกอบการชี้แจงว่า แท็กซี่ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ ย้ำว่าอัตราที่แสดงไปยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ปรับค่าโดยสาร แต่เป็นข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ.-สำนักข่าวไทย