กรุงเทพฯ 1 ก.ย. – คลัง-แบงก์ชาติ จัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” หลังเจอโควิด-19 เศรษฐกิจทรุด ค่าครองชีพสูง ทำยอดหนี้ NPL พุ่ง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวสะดุด ธปท. เตรียมออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ปรับปรุงเงื่อนไข “สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ” เพื่อช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ในส่วนรายย่อย ได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” แบ่งการจัดงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จะเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้มีปัญหาการชำระหนี้ และยังไม่ได้ความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน
โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท. จับมือกับทุกสมาคมสถาบันการเงิน และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เข้าร่วม 56 ราย ครอบคลุมหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อแบกง์รัฐ จากนั้นในเฟส 2 จะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของแบงก์รัฐ และเตรียมจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงมกราคม 2566
ขณะนี้ภาระหนี้ข้าราชตำรวจ จำนวน 7,200 ราย ปรับโครงสร้างหนี้แก้ไขได้แล้ว 5,439 ราย อยู่ระหว่างแก้ไข 1,700 ราย ในส่วนสหกรณ์ตำรวจ ธ.ออมสิน ร่วมแก้ไขลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 2 ต่อปี มีสหกรณ์ครูเข้าร่วม 47 แห่ง ส่วนข้าราชการครู สหกรณ์ปรับลดดอกเบี้ยให้สมาชิกแล้ว 70 แห่ง สมาชิก 4 แสนราย ปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูไปแล้ว 3,623 ราย
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาใหญ่สั่งสมมานานจากหลายสาเหตุ การจัดมหกรรมแก้หนี้ในครั้งนี้ หวังแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง รายได้ยังไม่กลับมาปกติจากปัญหาโควิด-19 ผลจากค่าครองชีพแพง และแนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและตรงจุด ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนไตรมาส 1 ร้อยละ 89.2 ของจีดีพี ธปท. เตรียมออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ(responsible lending) ครอบคลุมการปล่อยหนี้ใหม่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลลูกหนี้ควรรู้อย่างถูกจังหวะเพื่อกระตุกพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน และขยายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เช่าซื้อลิสซิ่งได้รับความคุ้มครองทางการเงินมากขึ้น จึงเตรียมออกกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจนี้เพิ่มเติม จึงเตรียมเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
การแก้ปัญหาหนี้ ที่ผ่านมา คลัง-ธปท. และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ และสอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา มีทั้งการแก้หนี้เดิม ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เพื่อปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน ไปจนถึงสิ้นปี 2566
ทั้งนี้ กลุ่มลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ ประกอบด้วย ลูกหนี้ ธ.พาณิชย์ แบงก์รัฐ non-bank ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2565 จำนวน 3.84 ล้านบัญชี 2.9 ล้านล้านบาท
ลูกหนี้กองทุน กยศ. ได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ 340,000 ราย ลูกหนี้ครู เข้าร่วมโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย 41,000 ราย ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ 7,000 ราย
การเติมเงินใหม่ ผ่านโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ได้มีการปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยล่าสุดได้มีการปรับเงื่อนไขให้รองรับการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ ปัจจุบัน ณ 22 สิงหาคม 2565 มีผู้ประกอบการ SME ได้รับความช่วยเหลือ 133,245 ราย วงเงิน 324,989 ล้านบาท โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re-open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรม โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้าง และการเติมความรู้เพื่อเสริมทักษะทางการเงิน.-สำนักข่าวไทย