กรุงเทพฯ 31 ส.ค.- ธปท.ชี้เศรษฐกิจเดือน ก.ค. ชะลอลง “บริโภค-ลงทุน-ส่งออก” วูบ ส่วนท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้น ผลกระทบจาก “ราคาสินค้า-ค่าโดยสาร” ที่ปรับเพิ่มขึ้น ระยะต่อไปจับตา “ต้นทุน-ค่าจ้าง-ราคาสินค้า” พุ่ง
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. ยังมีการฟื้นตัวอยู่ แต่ชะลอตัวลงไปบ้าง จากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง หลังจากที่เร่งตัวไปในช่วงก่อนหน้านี้
โดยค่าครองชีพที่สูงยังคงกดดันการบริโภค ขณะที่การส่งออกปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ภาคบริการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัว โดยอยู่ที่ 7.61% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 7.66% แม้ราคาพลังงานชะลอลง แต่ราคาอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นจาก 2.51% เป็น 2.99% จากราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับตัวขึ้น
ขณะที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือน ก.ค. อ่อนค่าจากเดือนก่อนหน้า จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค
ขณะที่ในเดือน ส.ค. ช่วงต้นเดือนจนถึงวันที่ 25 ส.ค. หรือก่อนมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบแจ็กสัน โฮล เงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น แต่หลังจากนั้นก็กลับมาอ่อนค่า ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ขณะเดียวกัน นักลงทุนมีความกังวลเศรษฐกิจจีนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังมีปัญหามากขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ แรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจะมีจำกัดมากขึ้น จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศ และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวดีขึ้น
สำหรับเดือนสิงหาคม 2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องติดตาม 3 ประเด็น คือ 1. การปรับขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2. อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3. การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ.-สำนักข่าวไทย