ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : รู้จักโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด พบได้ในคนกลุ่มไหน 🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย “พาร์กินสัน” (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่มีการเสื่อมของระบบประสาท เริ่มต้นที่ศูนย์ควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารสื่อประสาทสำคัญ ที่เรียกว่าโดพามีน (dopamine) ลดลง ผู้ป่วยจะมีปัญหาหลายเรื่องทางด้านการเคลื่อนไหว 4 อาการหลัก ได้แก่ (1) อาการสั่น (2) การเคลื่อนไหวช้า (3) เกร็ง (4) เดินลำบาก ปัจจุบันมีความรู้มากมายพบว่าผู้ป่วยพาร์กินสันมีอาการที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวอีกหลายอย่าง โรคพาร์กินสันมีสาเหตุหลากหลาย เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมารวมกัน เช่น ผู้ป่วยบางรายมีประวัติครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสัน เคยได้รับสารพิษปราบศัตรูพืช และอายุที่มากขึ้นก็มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้น ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคพาร์กินสัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่ ? ต้องบอกว่าความเสี่ยงของคนที่มีญาติสายตรงเป็นพาร์กินสันเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่ได้หมายถึงทุกคนจะต้องเป็นเสมอไป ยีนในปัจจุบันมีหลายแบบมาก ความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ที่สำคัญคือร่างกายคนเรามีความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง การมียีนไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีอาการเสมอไป เพราะมีปัจจัยร่วมต่าง ๆ อีกหลายอย่าง โรคพาร์กินสันจะเกิดได้ในคนอายุเท่าไหร่ ? ตามสถิติที่เก็บในประเทศไทยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 63 […]