กรุงเทพฯ 3 ส.ค.- นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหวั่นผลผลิตธัญพืชซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์จะมีปริมาณลดลงทั่วโลกเนื่องจากสภาวะเอลนีโญ รวมถึงการที่รัสเซียระงับข้อตกลงส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำของยูเครน ขณะที่สมาคมหมูเกรงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อาจปรับเพิ่ม จะซ้ำเติมภาวะขาดทุนจาก “หมูเถื่อน” เตรียมหารือภาครัฐส่งหนังสือถึงประเทศผู้ส่งออกหมูว่า ไทยยังไม่เปิดนำเข้าเนื้อหมู คาดส่งผลให้เกิดภาวะขาดทุนในธุรกิจสุกรไทยถึงสิ้นปี 2566
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวแสดงความกังวลถึงปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบอาหารสัตว์ว่า สภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มต่อเนื่องไป 1 ถึง 3 ปี จึงเป็นสัญญาณอันตรายว่า ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ รวมถึงธัญพืชซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ นอกจากนี้รัสเซียยังระงับ “ข้อตกลงธัญพืชทะเลดำ” อีกครั้งซึ่งจะทำให้การส่งออกธัญพืชจากยูเครนที่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์แหล่งใหญ่ของโลกต้องหยุดชะงัก ดังนั้นอาจเกิดปัญหาทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดและแพงขึ้น
ขณะที่ประเทศไทยยังไม่เตรียมการรับมือ โดยจำกัดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ปล่อยให้เกิดปัญหาข้าวโพดหนีภาษีสวมสิทธิ์ในประเทศ ขณะที่การเพิ่มการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยยังไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง รวมถึงการปลูกยังขาดมาตรฐานรับรอง ต่างจากเวียดนามที่นำเข้าข้าวโพดได้ 100% และเริ่มปลูกข้าวโพด GMO แล้ว
นายทวีเดช ประเจกสกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัท ท็อปฟีดมิลล์ จำกัดกล่าวว่า กังวลว่า ซับพลายวัตถุดิบอาหารสัตว์จะขาดมากกว่าราคาที่จะแพงขึ้น ส่วนการหาวัตถุดิบทดแทนโดยเชิงปริมาณแล้ว ยากที่จะทำได้ ดังเช่นกากเบียร์ กากทานตะวัน และกากงาที่จัดหาได้เพียงตามฤดูกาลเท่านั้น
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผยว่า ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศได้รับความเดือนร้อนอย่างหนักจากราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น โดยเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่ต้นปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันทำให้ราคาสูงขึ้นกว่า 30% ล่าสุดรัสเซียประกาศยกเลิกข้อตกลงธัญพืชทะเลดำซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักเพิ่มขึ้นแล้ว 5-10% ประกอบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรลงทุนปรับปรุงฟาร์มเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น
ทั้งนี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทยจากที่เคยมีราคาสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนเมื่อปี 2565 แต่ปีนี้กลับตกต่ำที่สุดเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก “หมูเถื่อน” ยังคงมีกระจายทั่วประเทศช่วงครึ่งปีแรก 2566 ทำให้ราคาหมูลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงต้องการให้ภาครัฐปราบปรามหมูเถื่อนให้สิ้นซาก
นายสัตวแพทย์เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา “หมูเถื่อน” ไหลเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยเพิ่งฟื้นจากการระบาดของโรค ASF ในปี 2564 และสามารถเพิ่มการผลิตสุกรจนเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศแล้ว เมื่อมีปริมาณเนื้อสุกรนอกกฎหมายเข้ามาในตลาด ทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำอย่างมากตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นมา โดยที่ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศได้
ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเตรียมหารือกับกรมปศุสัตว์ให้ส่งหนังสือแจ้งให้กับหน่วยงานราชการนานาชาติทราบถึงปัญหา “หมูเถื่อน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งแจ้งประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกรมายังประเทศไทยว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกต้นทางที่รับคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าที่ไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศไทยให้แจ้งทางผู้นำเข้าถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อป้องกันการไหลของ “หมูเถื่อน” เข้ามายังตลาดเมืองไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนี้โดยด่วน ส่วนในประเทศนั้น ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กวาดล้างขบวนการนี้จนถึงที่สุด
นายสัตวแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีข่าวการแพร่ระบาดใหม่ของโรค ASF ในประเทศไทย โดยฟาร์มสุกรที่ได้รับเป็นฟาร์มมาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 6,209 ราย ยิ่งสร้างความมั่นใจในเชิงประสิทธิภาพของการป้องกันโรค โดยจำนวนสุกรเข้าเชือดในแต่ละวันประมาณ 55,000 ตัว คิดเป็น 80-90% ของจำนวนช่วงก่อนการระบาดของโรค ASF
ส่วนต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยอยู่ประมาณ 90 บาทต่อกิโลกรัมแต่สามารถขายได้ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัมทำให้ผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนตัวละ 3,000 บาท โดยปริมาณการผลิตในประเทศมีการผลิตสุกรเฉลี่ย 50,000ตัวต่อวัน เท่ากับขาดทุนวันละ 150 ล้านบาท หรือ เดือนละ 4,500 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการฟาร์มสุกรในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงการระบาดปี 2564-2565 จะต้องมีทุนรองรับการขาดทุนจาก ASF และมีทุนเพื่อการขยายตัว คาดว่า การขาดทุนในธุรกิจสุกรไทยอาจลากยาวถึงสิ้นปี 2566
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม โดยราคาอยู่ระหว่าง 62- 74 บาทต่อกิโลกรัมตามแต่ละภูมิภาค โดยตลาดมีทิศทางดีขึ้น การซื้อขายจริงมีฐานราคาปรับขึ้นเล็กน้อยในหลายภูมิภาค แม้รายงานแต่ละภูมิภาคยังรายงานราคาที่ทรงตัว พร้อมระบุถึงคดี “หมูเถื่อน” ว่า มีสายของผู้ประกอบการขนส่งทางเรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสาวถึงขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกร
นอกจากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมประชุมกับกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรในสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดวันทำลายสินค้าของกลางในตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งกำหนดพื้นที่ทำลายของกลางเป็นในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยของกลางเสื่อมสภาพจนไม่สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อการบริโภคได้แล้ว.-สำนักข่าวไทย