กรุงเทพฯ 27 มิ.ย.- “รัฐมนตรีมนัญญา” Kick Off นโยบาย “ขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตามแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสร้างความเข้มแข็งสหกรณ์ใน 4 มิติอย่างยั่งยืน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมประกาศนโยบาย “ขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และนางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมีการถ่ายทอดสัญญาณยังหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างรูปแบบการทำงานเพื่อส่งเสริม พัฒนา และตรวจสอบสหกรณ์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมให้มีความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก
ทั้งนี้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ได้ให้แนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ไว้ในแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ให้สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง จึงต้องปรับทั้งกระบวนการคิดและวิธีในการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนไปรวม 5 ด้านได้แก่
– การจัดการและบริหารการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม
– การพัฒนาคนวัยทำงานรุ่นใหม่สู่ช่วงยุคเปลี่ยนผ่าน
– การพัฒนาองค์กรสู่รูปแบบวัฒนธรรมการทำงานด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี
– การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
– การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของการสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า การ Kick Off นโยบาย “ขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน” เป็นการประกาศขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา “การสหกรณ์” ให้เป็นกลไกสำคัญสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจฐานรากและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเกษตร ในแผนแม่บทย่อย การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นใน 4 มิติ โดยกรมรับผิดชอบ 2 มิติที่ ได้แก่
-มิติที่ 1 ความสามารถในการให้บริการสมาชิก ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้เข้าถึงทุกช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างคุณค่าการสหกรณ์ให้เข้มแข็งในระดับฐานราก
-มิติที่ 4 ประสิทธิภาพของการบริหารงาน มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะในการบริหารงานและธุรกิจของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ซึ่งพิจารณาจากการดำเนินกิจการตามระเบียบ คำสั่งนายทะเบียน และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในองค์กร ทั้งในส่วนของการเกิดทุจริต และการเกิดข้อบกพร่องประเภทต่าง ๆ เช่น การดำเนินกิจการนอกกรอบวัตถุประสงค์ ข้อบกพร่องทางบัญชี ข้อบกพร่องทางการเงิน พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และข้อบกพร่องอื่นๆ
พร้อมกันนี้ย้ำว่า ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ต้องบูรณาการทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ “สหกรณ์” พัฒนาตัวเองในทุกด้านปรับตัว ทั้งกระบวนการคิดและวิธีการในการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัย และบริบทที่เปลี่ยนไปสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ การบริการสมาชิก เพื่อให้สหกรณ์มีศักยภาพในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับให้กับสมาชิกและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง
นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมกำหนดเกณฑ์การประเมิน 2 มิติ คือ
– มิติที่ 2 ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นการประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์จากอัตราส่วนทางการเงินของสหกรณ์ ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานของสหกรณ์ โดยพิจารณาจาก 4 ด้านได้แก่ ความเข้มแข็งทางด้านเงินทุน ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และสภาพคล่องทางการเงิน โดยมีอัตราส่วนทางการเงินที่นำมาใช้กำหนดเป็นตัวชี้วัด 6 ตัวชี้วัด
– มิติที่ 3 ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร เป็นการประเมินความเข้มแข็งจากชั้นคุณภาพการควบคุมภายในว่า สหกรณ์มีการควบคุมภายในที่ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นมิติสำคัญในการสะท้อนความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของสหกรณ์
จากความร่วมมือดังกล่าว จะมีส่วนช่วยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสามารถปรับการบริหารงาน ความสามารถในการให้บริการสมาชิก ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและจัดการองค์กร เพื่อนำมาสู่การพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้ความเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป.- สำนักข่าวไทย