สงขลา 20 ธ.ค. – อธิบดีกรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานในภาคใต้ศึกษาแนวทางการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย ทั้งแบบเผชิญเหตุและในระยะยาว เพิ่มเติมจากโครงการบรรเทาอุทกภัยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำ การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ โดยระบุว่า ฝนที่ตกสะสมติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำให้มีน้ำไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันบางพื้นที่ ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฝนที่ตกในภาคใต้จะเริ่มลดลง แต่ยังตกอยู่บ้างบริเวณภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสมในระยะ 1-2 วันนี้ ดังนั้นจึงเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังใกล้ชิดและบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม
สำหรับในเขตสำนักงานชลประทานที่ 16 ได้แก่ จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล มีฝนตกตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.65 เป็นต้นมา ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ คลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง โดยจังหวัดสงขลาได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ รัตภูมิ คลองหอยโข่ง ระโนด และสทิงพระ ส่วนจังหวัดพัทลุงได้รับผลกระทบ 6 อำเภอ ได้แก่ ควนขนุน เมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน บางแก้ว และป่าบอน
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 16 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro flow และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล รวม 78 หน่วย เพื่อเร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลง ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว แต่ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้
สำหรับที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้เน้นย้ำให้พร่องน้ำคลองภูมินาถดำริ หรือคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่อาจตกลงมาเพิ่ม โดยการขุดขยาย “คลองภูมินาถดำริ” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ที่ปัจจุบันก้าวหน้าแล้ว 93% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 นี้
เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้อัตรา 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากเดิมที่ระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับการระบายน้ำในคลองอู่ตะเภา 465 ลบ.ม./วินาที ทำให้ศักยภาพการระบายน้ำในภาพรวมเมืองหาดใหญ่อยู่ที่ 1,665 ลบ.ม./วินาที นอกจากนั้นยังได้มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำด้วย โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 ซึ่งอยู่บริเวณปากคลองระบายน้ำ ร.1 ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถใช้บริหารจัดการน้ำด้วยการเปิด-ปิดบานระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่คลองระบายน้ำ ร.1 ได้แล้ว ส่วนประตูระบายน้ำบางหยี 2 พร้อมสถานีสูบน้ำ ดำเนินการแล้วเสร็จเช่นกัน หากงานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และสามารถกักเก็บน้ำสำรองสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในฤดูแล้งด้วย
คลองภูมินาถดำริ มีระยะทาง 21.34 กิโลเมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ความจุ 5 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันแม้งานยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถช่วยระบายน้ำหลากได้ในอัตรา 1,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้อำเภอหาดใหญ่ไม่เกิดอุทกภัย นับแต่ปี 2553 เป็นต้นมา
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้กำชับให้แต่ละโครงการชลประทานศึกษาแนวทางการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย ทั้งแบบเผชิญเหตุและในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย