จันทบุรี 27 ต.ค. – “ชลธี” ผอ.สวพ. เขต 6 “มือปราบทุเรียนอ่อน” เตรียมยื่นใบลาออกจากข้าราชการ ระบุ คำชี้แจงของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ว่า ให้ไปอยู่ในตำแหน่งใหญ่ขึ้น ไม่เป็นความจริง ชี้การโยกย้ายมีเบื้องลึกเบื้องหลังจากขบวนการค้าทุเรียนอ่อนสวมสิทธิ์ส่งออก
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (ผอ.สวพ. 6) กล่าวถึงการที่นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรชี้แจงเหตุผลการโยกย้ายตนเองไปเป็นผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (ผอ.กมพ.) ว่า เป็นไปตามวาระที่จะครบ 4 ปี ตามกฎระเบียบของข้าราชการพลเรือน รวมถึงเป็นตำแหน่งหลักในการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน พืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศ เอื้อต่อการให้ได้มีบทบาท อำนาจ หน้าที่มากกว่าการเป็น ผอ.สวพ.เขต 6 ที่ดูแลเพียงไม่กี่จังหวัดในภาคตะวันออก โดยนายชลธีระบุว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ไม่ได้กำหนดวาระตำแหน่งผู้อำนวยการกอง/สำนัก ว่า ต้องย้ายเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี รวมถึงนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผอ.กมพ. ที่จะย้ายสลับมาเป็นผอ.สวพ. 6 คนใหม่แทนตนนั้น อยู่ในตำแหน่งเดิมเพียง 3 เดือนเท่านั้น
ส่วนที่บอกว่า การโยกย้ายจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างผลงานขึ้นตำแหน่งรองอธิบดีใด้ในอนาคตเพราะอายุราชการเหลือถึง 5 ปีนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตรทราบดีว่า ตนไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งที่สูงไปกว่านี้ โดยสละสิทธิ์การเข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงมา 3 ปีแล้วเนื่องจากต้องการทำหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ภาคตะวันออกและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเกิดเพราะเป็นคนจังหวัดจันทบุรี
ทั้งนี้หลายฝ่ายทราบถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้มีการโยกย้ายว่า เกี่ยวข้องการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มค้าทุเรียนอ่อนซึ่งพยายามนำมาสวมสิทธิ์ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งตนเองได้เข้มงวดตรวจจับและสกัดกั้นมาโดยตลอดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจชาติ
นายชลธีกล่าวว่า ตัดสินใจลาออกจากข้าราชการเนื่องจากต้องปกป้องศักดิ์ศรีของข้าราชการที่ต้องไม่ยอมให้มีการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จากฝ่ายการเมือง อีกทั้งผู้บังคับบัญชาที่ควรปกป้องและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานตรงไปตรงมา กลับโอนอ่อนตามการแทรกแซงนั้น นอกจากนี้ยังทราบว่า มีการเตรียมผู้มารับตำแหน่งผอ.กมพ. ไว้แล้ว เพราะทราบดีว่า ตนเองจะไม่ยอมรับการโยกย้ายที่ไม่ถูกต้องและจะลาออกแน่นอน
สำหรับนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (ผอ.สวพ. 6) ได้รับฉายาจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ในภาคตะวันออกว่า เป็น “มือปราบทุเรียนอ่อน” โดยสกัดกั้นและตรวจสอบจับกุมการสวมสิทธิ์นำทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนจากต่างประเทศมาส่งออกในนามทุเรียนไทย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เข้าตรวจสอบล้งแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรีซึ่งพบทุเรียนอ่อนถึง 1,908 กิโลกรัมที่เตรียมส่งออกไปต่างประเทศ จึงตรวจยึดและดำเนินคดีเจ้าของล้ง ต่อมามีผู้มาเข้าพบ โดยระบุว่า เป็นผู้ใกล้ชิดนักการเมืองใหญ่และขอให้ไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าของล้ง แต่นายชลธีไม่ยอมและแจ้งว่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้นายชลธีคาดว่า การขัดขวางการหาผลประโยชน์จากขบวนการค้าทุเรียนอ่อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ถูกโยกย้าย
ล่าสุดกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่เห็นความเอาจริงเอาจังและตรงไปตรงมาในการปฏิบัติหน้าที่ของนายชลธี ส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมั่นใจในคุณภาพของทุเรียนไทยดีมากขึ้น ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งโยกย้ายดังกล่าว โดยเครือข่ายองค์กรผลไม้และผู้ประกอบการส่งออก 16 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1. สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก
2. สมาคมทุเรียนไทย
3. สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี
4. กลุ่มลุ่มน้ำวังโตนด
5. สมาคมผู้ค้าและส่งออกลำไยภาคตะวันออก
6. สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน ไทย-กัมพูชา
7. สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย
8. สมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดชุมพร
9. หอการค้าจังหวัดจันทบุรี
10. สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย
11. สถาบันทุเรียนไทย
12. วิสาหกิจชาวสวนทุเรียนจันท์
13. สภาเกษตรจังหวัดจันทบุรี
14. กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนจันทบุรี
15. สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน
16. สมาคมทุเรียนใต้
ตามแถลงการณ์ระบุว่า ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนคำสั่งโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเกษตรกรและประเทศไทยต่อไป.-สำนักข่าวไทย