กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพและการกำจัดศัตรูพืชด้วยสารสกัดจากพืชและชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อแสดงนิทรรศการ “นวัตกรรมปุ๋ยและการกำจัดศัตรูพืช เพื่อความปลอดภัยของประชาชน” โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรนำเยี่ยมชม โดยมีกลุ่มตัวแทนเกษตรที่ประสบสำเร็จจากการใช้ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืชร่วมนำเสนอผลการดำเนินการ ที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดแรงงาน และเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภค
นายระพีภัทร์กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีนวัตกรรมทางการเกษตรในการกำจัดศัตรูพืช เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดรับตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ประเด็นการพัฒนาภาคการเกษตรให้ส่งเสริมและเร่งขยายผลแนวคิดการทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนสารเคมีเกษตรให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยวิจัยและพัฒนาสารสกัดธรรมชาติ ชีวภัณฑ์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปุ๋ยชีวภาพ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มาใช้สนับสนุนเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีความปลอดภัยและสามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ
ผลการดำเนินการด้านชีวภัณฑ์ต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตรและของบริษัทที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ในการควบคุมศัตรูพืช (วัชพืช แมลง โรคพืช) ได้แก่ กลุ่มควบคุมวัชพืช สารสกัดจากยูคาลิปตัส ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนสารสกัดจากยูคาลิปตัสเป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทใบแคบ เช่น หญ้าขจรจบดอกเล็ก หญ้าตีนนก และวัชพืชประเภทใบกว้าง เช่น บาหยา และสาบม่วง และวัชพืชประเภทกก เช่น กกตุ้มหู และยังมี สารสกัดแมงลักป่า ซึ่งเป็นผลงานของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์เป็นสูตรสารละลายน้ำมันเข้มข้น 2 สูตร
กลุ่มควบคุมแมลงศัตรูพืชได้แก่ ราเขียวเมตาไรเซียมป้องกันกำจัดด้วงแรดซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม และด้วงหนวดยาวศัตรูสำคัญในอ้อย ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เชื้อแบคทีเรียบีทีใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช ไวรัสเอ็นพีวี ใช้ควบคุมหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลงศัตรูพืช จากสารสกัดพืช รูปแบบใหม่ 2 ชนิด เป็นผลิตภัณฑ์สูตรผสม สะเดา+หางไหล และ ว่านน้ำ+หางไหล ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบบนาโนเทคโนโลยี โดยพัฒนาระบบนำส่งสารออกฤทธิ์ที่สำคัญให้มีอนุภาคขนาดเล็กมากในระดับนาโน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแทรกซึมเข้าสู่ตัวแมลงศัตรูพืชเป้าหมาย และกระจายตัวเข้าสู่ในใบพืชได้ดียิ่งขึ้น สามารถออกฤทธิ์ในการควบคุมหนอนใยผักที่เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่ทำความเสียหายกับคะน้าและพืชตระกูลกะหล่ำ กลุ่มที่ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบีเอส ใช้ควบคุมโรคแอนแทรคโนส ในพริก มะม่วง โรคใบจุดพืชตระกูลกะหล่ำ และโรคเหี่ยว เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ควบคุมโรคตายพรายของกล้วย และเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในแหล่งปลูกพริก มันฝรั่ง และฝรั่ง
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีงานวิจัยปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าว ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร จากการวิจัยในแปลงเกษตรกรพบว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทูร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 15 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลงได้ 771 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 52.2 เมื่อเทียบกับวิธีเกษตรกร โดยให้ผลผลิตข้าวไม่แตกต่างกัน ซึ่งลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ 547 บาท และค่าเมล็ดพันธุ์ได้ 187 บาท ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนขอเข้ารับการอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี และขอรับสิทธิ์เพื่อช่วยเหลือกรมวิชาการเกษตรในการผลิต จำนวน 13 บริษัท รวม 23 สัญญา
สำหรับสารไกลโฟเซตซึ่งเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ตามมาตรการจำกัดการใช้ กับพืช 6 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และยางพารา กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการออกใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ในปี 2565 และ ปี 2566 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – ปัจจุบัน ได้ออกใบอนุญาตนําเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซต จํานวน 23,044.70 ตัน จากข้อมูลการนำเข้าไกลโฟเซตจนถึง วันที่ 30 กันยายน 2565 พบว่า ผู้ประกอบการมีการนําเข้าวัตถุอันตรายไกลโฟเซตแล้ว จํานวน 17,785.92 ตัน ยังไม่ได้นำเข้าประมาณ 5,258.78 ตัน ในปี 2566 มีการจัดทำแผนการอนุญาตให้นำเข้าไกลโฟเซตตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 29,333.64 ตัน
ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกการจัดการวัชพืช การใช้แรงงานและการใช้เครื่องจักรกล และการใช้หลายวิธีผสมกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการศัตรูพืชเฉลี่ยต่อไร่ของแต่ละวิธี เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรใช้เป็นวิธีการจัดการวัชพืชได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม เป็นทางเลือกให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ลดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตเกษตรและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย