กรุงเทพฯ 11 ต.ค.- กรมวิชาการเกษตรเรียกประชุมนายด่านตรวจพืช วางแผนรับมือส่งออกทุเรียนใต้ไป ใช้ 5 กฎเหล็กคุมเข้มส่งออก ย้ำต้องปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีน เดินหน้ารักษาประโยชน์ของชาติและป้องกันการสวมสิทธิ์ หากพบล้งตุกติกไม่โปร่งใส สั่งยกเลิกใบ GMP พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมนายด่านตรวจพืชและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งออกทุเรียน โดยมีนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อเป็นการกระชับการทำงานของนายด่านตรวจพืชและเจ้าหน้าที่ของกรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทุเรียนไปจีนและไปต่างประเทศทั้งระบบให้เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพตามแนวปฏิบัติที่กรมกำหนด และให้เป็นไปตามพิธีสารไทย-จีน อย่างเคร่งครัด และกรณีที่พบว่าโรงคัดบรรจุใดดำเนินการส่งออกทุเรียนผิดเงื่อนไข ข้อกำหนด และไม่โปร่งใส กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกการรับรองแปลงการผลิตที่ดีหรือแปลง(GAP)และยกเลิกการรับรองโรงคัดบรรจุหรือล้ง (GMP) ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้และจะดำเนินคดีการตามกฎหมาย เพื่อรักษาชื่อเสียงและตลาดของทุเรียนไทย
“ขณะนี้กำลังเข้าอยู่ในช่วงฤดูการส่งออกทุเรียนของภาคใต้ไปต่างประเทศ โดยมีจีนเป็นคู่ค้าหลัก ฉะนั้นการรักษาตลาดเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องย้ำให้ทุกฝ่ายดำเนินการเด็ดขาด ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรโดยตรงได้เน้นย้ำและให้นโยบายกับกรมวิชาการเกษตรมาตลอดให้ทำงานเต็มที่เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติและป้องกันการสวมสิทธิ์ ดังนั้นกรณีพบว่าล้งใดตุกติกไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด ทางกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ รวมถึงเกษตรกรและล้งที่ปฏิบัติดี ซึ่งขณะนี้มีล้งในภาคใต้ที่ผ่านการรับรองของจีนเปิดรับซื้อและบรรจุสินค้าอยู่ประมาณ 40 ล้ง” นายระพีภัทร์ กล่าว
แนวปฏิบัติตามข้อสั่งการของกรมวิชาการเกษตร สำหรับการส่งออกทุเรียนกำหนดกำหนดไว้ดังนี้
1. สวนทุเรียนและ/หรือสวนผลไม้ต้องได้รับขึ้นทะเบียน (GAP) และโรงคัดบรรจุหรือล้ง (GMP) จากทั้งฝ่ายไทยและศุลกากรจีน และศุลกากรจีนได้ประกาศรับรองเลขทะเบียนพร้อมแล้ว
2. สำหรับการตรวจสอบทุเรียนส่งออกในโรงคัดบรรจุ เพื่อรับรองสุขอนามัยพืช เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามข้อสั่งการ “คู่มือปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชในการส่งออกทุเรียนไปจีน” อย่างเคร่งครัด หากตรวจพบต้องสงสัย ไม่โปร่งใส่แหล่งที่มาของทุเรียน จะตรวจสอบย้อนกลับ และปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ
3. หากตรวจพบหรือต้องสงสัยว่า ผู้ประกอบการส่งเอกสารแนบหรือหลักฐานอันเป็นเท็จ ให้ดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อผู้ประกอบการ ที่แจ้งข้อความเท็จต่อทางราชการ ในการยื่นขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืช (พก.๗) เพื่อส่งออกทุเรียนไปจีน เฉพาะรายที่สงสัยว่ากระทำผิด นั้นทันที
4. ชะลอการคัดบรรจุเพื่อส่งออกชั่วคราว ตามพิธีสารไทย-จีน ภายใต้ข้อตกลงการส่งออกผลไม้สด
5. ทุกล้งที่ส่งออกไปยังจีนต้องมีมาตรการ COVID PLUS ตามมาตรการ ZERO COVID ที่ประเทศจีนกำหนด พร้อมกับการปฏิบัติตามระเบียบ หรือประกาศที่จังหวัดในพื้นที่นั้นๆ กำหนดเป็นมาตรการเฉพาะ เพื่อไม่ให้จีนตรวจพบโควิดและมีการปิดด่านนำเข้า ทำให้กระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยทั้งระบบ.-สำนักข่าวไทย