ภูมิภาค 14 ส.ค. – ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย อ.เชียงคาน จ.เลย และบึงกาฬ สูงขึ้น ด้าน สทนช. แจ้งเตือน 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลง หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณเหนือพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป ลาว
นี่เป็นระดับน้ำในแม่น้ำโขงล่าสุดที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย ซึ่งวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วัดได้ 7.55 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) ตอนเช้า 1.33 เมตร หลังจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเตือนเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณเหนือพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป ลาว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีเพิ่มขึ้น ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 เมตร อย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14-18 ส.ค.นี้
ขณะที่ระดับน้ำโขงช่วง อ.เชียงคาน จ.เลย อยู่ที่ 11.24 เมตร เพิ่มขึ้น 98 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 4.76 เมตร โดยน้ำโขงจาก อ.เชียงคาน จะไหลมาถึง จ.หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 7-10 ชั่วโมง จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ จ.หนองคาย เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอีก ประกอบกับในพื้นที่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในหลายแห่ง โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำโขง แม้ว่าจะยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งมาก แต่อาจจะส่งผลกระทบด้านการเกษตรได้เช่นกัน
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่ จ.บึงกาฬ สูงขึ้นจากวานนี้ 10 เซนติเมตร ตำกว่าระดับตลิ่ง 5.70 เมตร ถือว่าระดับน้ำสูงสุดในรอบปี 2565 ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านที่หาปลาในแม่น้ำโขง ทั้งชาวไทยและชาว สปป ลาว ตลอดจนเรือแพขนานยนต์ที่บรรทุกสินค้าข้ามไปมาระหว่างไทย-สปป ลาว ได้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
ปภ.เปิดพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 14 ส.ค.นี้เป็นต้นไป โดยมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังแยกเป็นจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 11-17 ส.ค.นี้
จังหวัดพื้นที่ริมน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นช่วงวันที่ 13-18 ส.ค.
ส่วนจังหวัดพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอย่างกรุงเทพมหานคร และ 11 จังหวัด ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 11 ส.ค.นี้เป็นต้นไป
จังหวัดพื้นที่ชายทะเล 23 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำ และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ช่วงตั้งแต่วันที่ 10-16 ส.ค.65 .-สำนักข่าวไทย