ปักกิ่ง 10 ส.ค. – คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เผยแพร่ผลสืบสวนโรคขั้นต้นพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสใหม่ชื่อ ‘ลางยา เฮนิปาไวรัส’ (Langya henipavirus) หรือเลย์วี (LayV) จำนวนหลายสิบคนในจีน
คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เผยแพร่ผลสืบสวนโรคขั้นต้นที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเลย์วีครั้งแรกในพื้นที่หลายจังหวัดของมณฑลซานตงและเหอหนาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 แต่คณะนักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เชื้อไวรัสเลย์วีมีแนวโน้มแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน คณะนักวิทยาศาสตร์ได้นำสัตว์ป่ามาตรวจหาเชื้อไวรัสเลย์วี และพบการติดเชื้อในหนูผีร้อยละ 25 จากทั้งหมด 262 ตัว ผลวิจัยในครั้งนี้ชี้ว่า หนูผี (shrew) อาจเป็นพาหะในการแพร่เชื้อตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังพบแพะร้อยละ 2 และสุนัขร้อยละ 5 ติดเชื้อไวรัสเลย์วีอีกด้วย
ผลวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ไวรัสเลย์วีทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ เบื่ออาหาร และปวดกล้ามเนื้อ โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเลย์วีในจีน 26 คนจากทั้งหมด 35 คน แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเลย์วี เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรง และไม่ควรตื่นตระหนกต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว อย่างไรก็ดี ขณะนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เชื้อไวรัสเลย์วีสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หรือไม่ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและพนักงานโรงงาน จากการตรวจสอบประวัติผู้ป่วยติดเชื้อ 9 คนที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสมาชิกครอบครัว 15 คนไม่พบว่าไม่มีใครติดเชื้อไวรัสเลย์วี แต่กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมีเป็นกลุ่มเล็กเกินกว่าที่จะสรุปว่าเชื้อไวรัสนี้ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้.-สำนักข่าวไทย