รัฐสภา 7 เม.ย.- ประธาน กรธ. ระบุ มาตรา 5 รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นการแก้ไขกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงแต่ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปิดกว้างมากขึ้น เปิดใจ มีความสุขมากที่สุด หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ หลังจากเหนื่อยยากมานาน แม้บางคนไม่ดีใจด้วยก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ข้าราชการและสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้รดน้ำดำหัว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2560
นายมีชัย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (6 เม.ย.) เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุด เพราะกรธ.ทำงานเหนื่อยยากมานาน พอได้เห็นผลสำเร็จเราก็ดีใจ แม้จะมีบางคนไม่ดีใจกับเราก็ตาม จากนี้ ยังเหลือภาระที่ต้องทำ คือ การร่างกฎหมายลูก ที่ต้องให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นภูเขาอีกหนึ่งลูกที่ กรธ.พยายามยกออกจากอกให้ได้
ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าว กรธ. ส่วนตัวอยู่ในวงการการเมืองมานาน แต่ก็พึ่งเห็นสื่อมวลชนที่ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต่างจากสื่อมวลชนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถามเพื่อคาดคั้นเอาคำตอบ แต่เป็นการถามเพื่อให้อธิบายและเป็นการเตือนให้ กรธ.ได้ทำงานอย่างรอบคอบมากขึ้น
นายมีชัย กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคสอง ที่บัญญัติ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า เป็นการแก้ไขกลับมาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพียงแต่ช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปิดกว้างมากขึ้น ให้ทุกองค์กรสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ จากที่ผ่านมา จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อมีปัญหาระหว่างองค์กรเท่านั้น ส่วนประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายรับรองไว้ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเบื้องต้น
“ตามประเพณีการปกครอง ส่วนหนึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่วันข้างหน้า เกิดปัญหาอะไร อาจต้องย้อนไปดูประเพณีการปกครอง ในเมื่อเราไม่รู้ปัญหาในขณะนี้ เราไม่สามารถตอบได้ชัดเจน” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และถือว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและเป็นผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต มักมีหลายฝ่ายไม่เชื่อมั่นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร
ประธาน กรธ. กล่าวว่า สำหรับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 คสช.ยังสามารถใช้ได้ตามหลักการที่เคยใช้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่า ไม่ถึงขั้นใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกไปก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้วว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่หากมีฉบับใดที่เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะต้องนำกลับมาทบทวน ซึ่ง คสช.ระมัดระวังอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย