กรุงเทพฯ 4 ส.ค.-ก.พลังงานเร่งหารือ กกพ.ช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าเอฟทีที่จะปรับขึ้นงวดใหม่ พร้มอยืนยันแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไฟฟ้าไม่ดับ เห็นชัดก๊าซ”ซอติก้า” หยุดส่งฉุกเฉิน ก็สามารถบริหารความมั่นคงด้านพลังานได้ วอนประชาชนประหยัดพลังงานต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาLNG จะได้กระทบค่าไฟต่ำสุด
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานได้สั่งการให้หาแนวทางช่วยเหลือประชาชนลดผลกระทบจาก ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65 )ปรับขึ้นจากงวดปัจจุบันอีก 68.66 สตางค์/หน่วย.เป็นอัตราที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงสุด(นิวไฮ)ของค่าไฟฟ้าประเทศไทย โดยกำลังหารือกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ว่า จะช่วยเหลืออย่างไร และต้องใช้เม็ดเงินเท่าใด โดย ในงวดปัจจุบันนั้นได้ช่วยเหลือประชาชน กรณีใช้ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนค่าเอฟทีจะไม่ปรับขึ้น แต่งวดใหม่จะช่วยอย่างไร ก็กำลังหาแนวทางสรุปเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป
นายกุลิศ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องของท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้าจากเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ส.ค. และคาดจะสามารถส่งก๊าซฯได้ตามปกติ ภายใน 2 สัปดาห์นั้น ทางกระทรวงพลังงานบริหารเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป รวมถึงผลกระทบด้านต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ได้ร่วมกับทุกหน่วยงาน เช่นกกพ.ในการจัดทำแผนการบริหารเพื่อจัดหาเชื้อเพลิงล่วงหน้า มีแผนฉุกเฉินเตรียมรับสถานการณ์
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ จึงได้มีการปรับแผนให้สอดคล้องทันที โดยมีประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานมาเป็นอันดับแรก และบริหารต้นทุนเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด โดยประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการสามารถมั่นใจในความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศได้ โดยจัดส่งก๊าซฯจากภาคตะวันออกมาทดแทนก๊าซในภาคตะวันตก มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG )รวมทั้งใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามความเหมาะสมทั้งด้านประเภทโรงไฟฟ้าและราคาเชื้อเพลิง
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริหารระบบไฟฟ้า และจัดการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า บมจ. ปตท.จัดหาก๊าซฯและน้ำมัน ทดแทน บมจ. ปตท.สผ. เร่งซ่อมแซมท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เกิดอุบัติเหตุพร้อมป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรมเชื้อพลิงธรรมชาติก็ได้กำกับให้ผู้รับสัญญาในแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมิให้มีการหยุดซ่อมบำรุงในกรณีที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานี้ ส่วนกรมธุรกิจพลังงานก็ดูแลการจัดหาและสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความมั่นคง
“เป้าหมายที่สำคัญที่เน้นย้ำคือ ประเทศไทยจะต้องไม่เกิดไฟฟ้าดับ ได้บูรณาการการทำงานบริหารแผนจัดหาเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม แม้แผนงานจะรองรับความมั่นคงด้านพลังงาน ไฟฟ้าไม่ดับอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนในการใช้ไฟฟ้าอย่าง มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้ ก็จะสามารถลดการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็ถูกลงและจะลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนได้”ปลัดกระทรวงพลังงานระบุ .-สำนักข่าวไทย