กรุงเทพฯ 3 ส.ค.-สถาบันฯ GIT เร่งสร้างความรับรู้มาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เติบโตยั่งยืน หลังการแพร่ระบาดโควิดเบาลง ปลื้มยอดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 46.90% เชื่อการสร้างมาตรฐานสินค้าไทยจะดันให้ธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GITกล่าวในงานเสวนา “การพัฒนามาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ”โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีกิจกรรมทางสังคมในขณะนั้นแต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเดือนพ.ค.2565 มีมูลค่า 757.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 69.70% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,014.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.03% โดยยอดรวม 5 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 3,289.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 46.90% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 7,589.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 113.96% เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ การสร้างมาตรฐานทั้งมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีความเข้มแข็ง มั่นคง และพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสถาบันฯ จึงได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ” โดยทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ และ ผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ
นอกจากนี้ การมีระบบตรวจสอบรับรองที่มีมาตรฐานแล้ว บุคลากรในระบบที่เกี่ยวข้อง ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในมาตรฐานสินค้า ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความเข้าใจ ในมาตรฐานวัตถุดิบอัญมณีและเครื่องประดับที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นความรู้ที่เป็นสากลควบคู่กับการพัฒนาระบบมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในการมีมาตรฐานได้อย่างสมบูรณ์ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจถึงพลวัตของธุรกิจ แนวโน้มวัตถุดิบ และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาดได้อย่างชัดเจน ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ระบบธุรกิจในการรองรับความต้องการและเป็นกลไกหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคง และมั่งคั่ง
อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนาในครั้งนี้จะได้นำเสนอและถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการพัฒนามาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจ ในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจะเป็นกลไกหนึ่งที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมและยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมสนับสนุนภาพลักษณ์ไทยในการเป็นฮับการค้าอัญมณีเครื่องประดับโลกอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย