กรุงเทพฯ 18 ก.ค. – ผู้ว่าฯ กทม.เผยพร้อมประสาน สธ.ทุกมิติ อยากร่วมประชุมกับ สธ.เองแต่ติดภารกิจ น้อมรับทุกคำแนะนำเผยกิจกรรม กทม.จัดเป็นกลางแจ้ง ยังไม่มีคลัสเตอร์จากกิจกรรมของ กทม. แต่พร้อมปรับได้ตามสถานการณ์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหาร กทม. ระบุว่าวันนี้ได้รับจดหมายเชิญจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปค.สธ.) แล้ว แต่ที่ประชุมนี้ก็มีองค์ประชุมของฝั่ง กทม.เป็นรองปลัด กทม.ที่เกี่ยวข้องอยู่ เผยใจจริง ๆ อยากไปร่วมประชุมด้วย แต่ติดภารกิจอัดเทปช่วงเวลา 14.00 น. ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวขอบคุณ สธ.ที่ให้เกียรติและพร้อมจะร่วมมือกับ สธ.ทุกด้าน ส่วนเรื่องที่มีการขอความร่วมมือ กทม. ลด ละ เลิกกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มใน กทม.นั้น ระบุว่า กทม.จัดกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ที่ผ่านมาไม่ได้เจอคลัสเตอร์จากการจัดกิจกรรมทั้งดนตรีในสวน หรือเทศกาลหนังกลางแปลง แต่ส่วนใหญ่ที่พบการติดเชื้อจากในครอบครัว และติดจากเด็กที่ไป รร.กลับมาติดที่บ้าน แต่ก็จะรับคำแนะนำไว้ รอผลประชุมวันนี้กับ สธ.ว่าจะมีคำแนะนำอย่างไร ย้ำตนไม่ได้ติดกับการจัดงานอะไร คุยกันด้วยเหตุผล พร้อมปรับวิธีการตามสถานการณ์ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมาจากการจัดกิจกรรมกลางแจ้งของ กทม.
งานใหญ่ของ กทม. อีกงานคือการจัดประชันวงดุริยางค์ของ รร.กทม.และนครราชสีมา วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคมนี้ เดิมจะจัดที่ศูนย์กีฬาเยาวชนไทยญี่ปุ่นดินแดง แค่ต้องเปลี่ยนสถานที่ เพราะทางนครราชสีมา เตรียมผู้ร่วมมาไว้ 1,000 คน ซึ่งมากกว่าเดิม และจากข้อกังวลเรื่องสถานการณ์โควิด ทำให้ กทม.เตรียมประสานหาสถานที่ใหม่ให้กว้างขึ้นอาจเป็นที่อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก และจะมีการเปิดจองบัตรผ่านออนไลน์ ชมฟรี โดยกำหนดผู้ชมฝั่งละ 1,000 คน รวม 2,000 คน โดยจะมีไลฟ์ให้ชม
ขณะที่ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม.ขณะนี้ เฉลี่ย 2,000-3,000 คน/วัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว แพทย์ให้ยาตามเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนด กทม.ยังมีเตียงเพียงพอ โดยข้อมูลวันที่ 1-17 ก.ค. 65 มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารับบริการที่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. รวม 31,119 ราย
โดยจากการประชุมวันนี้ กทม.ได้ข้อสรุปมี 4 มาตรการที่จะดำเนินการ คือ 1. เปิดศูนย์สาธารณสุขในวันเสาร์ด้วย เพื่อให้บริการตรวจโควิดและจ่ายยาให้ได้ 2. เปิดฉีดวัคซีนแบบวอล์กอินที่ศูนย์สาธารณสุขในวันศุกร์และวันเสาร์ 3. ตรวจเชิงรุกใน รร.เพิ่มขึ้น และ 4. เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กลุ่มเสี่ยง 608 เพราะพบว่าส่วนมากเมื่อติดเชื้อจะเป็นผู้ป่วยหนักอาการสีเหลือง แดง โดย กทม.จะออกหนังสือขอความร่วมมือทุกสถานพยาบาล เมื่อมีกลุ่ม 608 เข้ามารับบริการรักษาที่ รพ.อยู่แล้ว ก็จะขอให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ไปด้วย
ส่วนเรื่องจำนวนยานั้น รองปลัดฯ กทม.กล่าวว่า ยังต้องขอความกรุณากระทรวงให้สนับสนุนยาให้เพียงพอ วันนี้ก็จะไปประชุมขอให้มีเพิ่มจำนวนยาที่จัดสรรให้ กทม.เพื่อให้รองรับที่จะเปิดจุดรับยา เจอ แจก จบ มากขึ้น ย้ำผู้ที่ตรวจแล้วยืนยันว่าติดเชื้อให้กักตัวและรักษา 5+5 วัน ในแง่ของการควบคุมโรค ขอให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ และขอความร่วมมือผู้ที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงขอให้สังเกตอาการ หากกักตัวเองได้ 5 วัน แล้วตรวจเอทีเค ถ้าทำได้จะดีมาก หรือถ้ารู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรอยู่ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุดเพื่อลดการแพร่เชื้อ
ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้เปิดเผยว่าขณะนี้มีเอกชนแจ้งความประสงค์ อยากให้ที่ดิน กทม.ทำพื้นที่สาธารณะ โดยเอกชนจะได้รับประโยชน์เรื่องของภาษี แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ กทม.ก็ต้องคิดรอบคอบ เพราะจะเสียรายได้จากการได้รับภาษี โดยเตรียมออกเป็นประกาศให้มีความชัดเจนว่าจะมีหลักเกณฑ์รับที่ดินอย่างไร กำหนดระยะเวลาและการใช้ประโยชน์ บางคนเสนอเป็นพื้นที่แก้มลิงเก็บน้ำ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ไม่ใช่ว่า กทม.จะรับได้ทุกที่ แต่ก็ขอบคุณเอกชนทุกคนที่ประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ความคืบหน้าของการแจ้งเหตุผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ ขณะนี้มีแจ้งเข้ามากว่า 9 หมื่นเรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 หมื่นกว่าเรื่อง ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าผ่านระบบ open data ของ กทม.ที่จะนำขึ้นเว็บไซต์ให้ติดตามหลังแจ้งเรื่อง และต่อไปเตรียมขยายให้ระบบแจ้งเหตุเรื่องทุจริตคอร์รัปชันได้ด้วย แต่ต้องปรับระบบการแจ้งให้ผู้แจ้งเป็นความลับ เพื่อความปลอดภัยของผู้แจ้งด้วย
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้า ระบบการแจ้งและขอรับไฟล์ภาพ เข้าระบบ CCTV ของ กทม. ผ่านเว็บไซต์ cctv.Bangkok.go.th หรือผ่านไลน์ @CCTVBANGKOK เพื่อให้ประชาชนแจ้งเรื่องและติดตามสถานะการให้บริการขอภาพข้อมูลกล้องระบบวงจรปิดของ กทม. โดยผู้ขอจะต้องมีใบแจ้งความจากสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุก่อน เพื่อดำเนินการขอภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐาน กทม.มีศูนย์ CCTV ดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขคือ การรับไฟล์ภาพภายใน 24 ชั่วโมง จะสามารถขอข้อมูลไฟล์ได้ไม่เกินครั้งละ 6 กล้อง โดยไฟล์ภาพต้องมีระยะเวลา รวมไม่เกิน 3 ชั่วโมง หากต้องการรับไฟล์เวลามากกว่านั้น ให้ติดต่อได้ที่ศูนย์ CCTV ทั้ง 13 แห่ง. -สำนักข่าวไทย