กรุงเทพฯ 1 เม.ย. – ก.พลังงานยืนยันไม่ร่วมเป็นกรรมการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC) เพราะมีส่วนได้เสีย เดินหน้ารับฟังความเห็นกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลแหล่งปิโตรเลียม มั่นใจเปิดทีโออาร์เอราวัณ-บงกช เดือน ก.ค.นี้
หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติวันที่ 30 มีนาคม 2560 ผ่านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ฉบับที่… (พศ….) และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับที่… (พ.ศ….) ว่า โดยมีข้อสังเกตที่ให้มีการศึกษาการตั้ง NOC ก็คงต้องรอผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษา ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายใน 60 วัน และสรุปผลภายใน 1 ปี
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานคงไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาจัดตั้ง NOC เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่กระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังแล้วว่าให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ภายหลังที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง NOC เมื่อมีความพร้อมโดยให้บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียมและให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา
อย่างไรก็ตาม จากที่ติดตามข้อสังเกต สนช.จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการจัดตั้ง NOC และหากจัดตั้งแล้วจะดำเนินการอย่างไร จะใช้เม็ดเงินงบประมาณส่วนใดมาลงทุน โดย NOC ทั่วโลกจะมี 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ หน่วยงานลงทุน (Investor) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ผู้ดำเนินการ (operator ) และหน่วยงานนำปิโตรเลียมไปจำหน่าย (Downstream) หลักการจะนำทั้ง 4 ส่วน หรือจะใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งมารวมกัน หากนำหน่วยงานกำกับดูแลและการจำหน่ายมารวม ก็ต้องยุบกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมธุรกิจพลังงานไปอยู่ภายใต้ NOC และหากจะนำโอเปอเรเตอร์ไปด้วยก็ต้องหมายถึงยุบ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือจะใช้รูปแบบเช่นเดียวกับ บมจ.ปตท.ที่รัฐบาลในอดีตตั้งขึ้นให้เป็นลักษณะเสมือน NOC ที่มี 3 ส่วนรวมกัน มีเพียงกำกับดูแลแยกออกมาดำเนินการโดยกรมเชื้อเพลิงฯ
“ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงฯ แสดงความเห็นไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับ NOC เพราะประสิทธิภาพไม่สามารถดำเนินการได้ตามกลไกในปัจจุบัน งบประมาณลงทุนสำรวจและผลิตมหาศาลจะมาจากไหน รัฐบาลใดจะกล้าเสี่ยง หากลงทุนแล้วขาดทุน โดยเฉพาะช่วงราคาน้ำมันตกต่ำหากตั้งขึ้นมาก็ต้องกำหนดแบ่งส่วนราชการใหม่ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ก็พร้อมปฏิบัติตามไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร” อธิบดีกรมเชื้อเพลิง กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ ร่างกฎกระทรวงที่จำเป็นอีก 5 ฉบับและประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมอีก 1 ฉบับ มารองรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการรองรับการคัดเลือกผู้ลงทุนแหล่งปิโตรเลียมทั้งรูปแบบสัมปทาน, ระบบแบ่งปันผลผล (พีเอสซี) และจ้างผลิต (เอสซี ) ซึ่งจะโฟกัสกรุ๊ปรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ลงทุนด้านปิโตรเลียม ว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยทั้งหมด รวมทั้งแหล่งที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 คือ เอราวัณ-บงกช จะใช้หลักเกณฑ์ใด สำหรับแหล่งใด เพราะแต่ละแหล่ง มีศักยภาพแตกต่างกันไป มีความยากง่ายซับซ้อนในการขุดสำรวจ เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์เสร็จสิ้นจะนำเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียม และ ครม.ต่อไป
“การจัดทำกฎหมายลูกและการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเดือนเมษายน 2560 และเสนอ ครม.หากเห็นชอบก็จะเปิดทีโออาร์ประมูลแหล่งเอราวัณ –บงกชภายในเดือนกรกฎาคม 2560 หลังจากนั้นจะใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณาคัดเลือก ซึ่งจะเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด “ นายวีระศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย