กรุงเทพฯ 7 พ.ย. – ยูเออีสนใจลงทุนในไทยทั้งโรงกลั่นฯ และประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” เพื่อเป็นฐานส่งออกน้ำมัน ด้านร่างทีโออาร์ประมูล กำหนดสูตรราคาอิงก๊าซแอลเอ็นจี กำหนดเพดานราคา เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้าแพงเกินไป รวมทั้งให้ ปตท.รับซื้อก๊าซฯ ทั้งหมด เพื่อแยกใช้ผลิตทั้งปิโตรเคมี-เชื้อเพลิงไฟฟ้าให้ได้ประโยชน์สูงสุด
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเดินหน้าประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกชนั้น ยังมั่นใจจะประกาศประมูลได้ในปี 2560 และจะรับทราบผลการคัดเลือกภายใน 7 เดือน หรือช้าสุดในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยขณะนี้มีความคืบหน้าทั้งด้านกฎหมายลูกและร่างทีโออาร์เปิดประมูล ขณะเดียวกันจากการหารือกับ บมจ. ปตท. ก็ขอให้รับซื้อก๊าซหลังประมูลต่อเนื่องในราคาอ้างอิงใหม่ที่ปรับมาเป็นการอิงราคานำเข้าแอลเอ็นจีแทนน้ำมันเตา โดยจะมีราคาเพดานประมูลกำหนดไม่ให้สูงเกินไป เพราะหากราคาแพงมากจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนและการให้ ปตท.รับซื้อก๊าซไปเข้าโรงแยกก๊าซ เพื่อนำก๊าซไปแยกส่วนไปเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีและเป็นเชื้อเพลิงนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดสร้างประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งทั้งร่างทีโออาร์และการให้ ปตท.เป็นผู้รับซื้อจะต้องนำเสนอ ครม.เห็นชอบก่อน
“ราคาก๊าซหลังประมูลเอราวัณ –บงกช แน่นอนว่าจะสูงกว่าราคาปัจจุบัน ที่อิงน้ำมันเตาที่ราคาแหล่งบงกชขณะนี้อยู่ที่ 174 บาท/ล้านบีทียู และแหล่งเอราวัณ 155 บาท/ล้านบีทียู โดยราคาใหม่จะกำหนดเพดานการประมูล เช่น หากเป็น 300 บาท/ล้านบีทียู ก็จะต้องประมูลภายใต้ราคานี้” นายวีระศักดิ์ กล่าว
ส่วนผู้แสดงความสนใจร่วมประมูลมีทั้งรายเก่า คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ. )และเชฟรอน ขณะที่รายใหม่ คูเวต, ซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), บมจ.บางจากฯ ,จีน ล่าสุดกลุ่มอีโคโอเรียนท์ ก็สนใจด้วยกัน โดยทุกรายขอดูทีโออาร์ก่อน ซึ่งในส่วนของตะวันออกกลางสนใจ เพราะต้องการใช้ฐานจากไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ภูมิภาคเอเชีย โดยในส่วนของยูเออีต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันในไทยด้วย
“ราคาน้ำมันสูงคาดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งในส่วนของยูเออีนั้นยังสนใจจะลงทุนโรงกลั่นในไทย ถ้าเราทำ TOR ได้กลาง ๆ ที่เขาอยู่ได้ลงทุนแล้วไม่ขาดทุนและสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ประเทศได้มาก ก็เชื่อว่าจะมีคนสนใจมากขึ้น“ นายวีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งบงกชและเอราวัณ จะอยู่ในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC อายุสัญญา 20 ปี จะเริ่มพิจารณาจากส่วนแบ่งกำไร (profit sharing) ที่สัดส่วน 50:50 คือบริษัทผู้ลงทุนและรัฐบาลจะได้ฝ่ายละ 50% ขณะที่จะต้องลงทุนฝ่ายละ 50% เช่นเดียวกัน โดยจะพิจารณาว่าใครให้ผลประโยชน์แก่รัฐสูงสุด อย่างไรก็ตาม หากมีการเสนอกำไรของเอกชนต่ำมาก นั่นก็หมายถึงรัฐจะต้องลงทุนในสัดส่วนที่มากเช่นกัน
นอกจากนี้ การประมูลจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ปริมาณซื้อขาย , ราคาซื้อขาย และแผนการดำเนินงาน โดยปริมาณจะกำหนดเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกภายใน 2-3 ปีแรก จะพิจารณาว่ารายใดคงกำลังผลิตได้สูงสุด ราคาใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการผลิตต่อเนื่อง ส่วนปริมาณช่วงที่เหลือก็จะดูว่าสามารถเสนอแผนงานได้ดีเพียงใด ,ส่วนในด้านราคาก็จะดูจากการเสนอที่ไม่เกินเพดาน โดยอาจแบ่งเป็น 2 ช่วง ๆ ละ 10 ปี และในแผนดำเนินการก็ต้องดูว่า สามารถลงทุนได้จริง
นายวีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุผ่านไปแล้ว กรมฯ เตรียมที่จะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมใหม่รอบที่ 22 ภายในปี 2561 หลังจากที่การประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ประสบความสำเร็จโดยการเปิดประมูลใหม่จะใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่งประกาศออกมา โดยพื้นที่ปิโตรเลียมในอ่าวไทยเป็นการประมูลในรูปแบบของ PSC ส่วนพื้นที่บนบกเป็นการประมูลในรูปแบบสัมปทาน ส่วนระบบจ้างผลิตหรือ SC อาจจะเป็นการประมูลในแหล่งขนาดเล็ก. -สำนักข่าวไทย