กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว 8 ก.ค.- “พล.ต.ท.สุคุณ” ผบช.ทท. ลงนามคำสั่งให้ดาบตำรวจท่องเที่ยว เรียกเก็บส่วย ถูกฝ่ายปกครองรวบตัวขณะล่อซื้อ ออกจากราชการไว้ก่อน ฐานประพฤติชั่วร้ายแรง
พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (ผบช.ทท.) ได้มีคำสั่ง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ที่ 556/2565 ระบุว่า เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ด้วย ด.ต.ภูวเมศฐ์ หิรัญวงศ์วราดล ผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจท่องเที่ยว 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1. รับเงินเดือน ระดับ ป.3 ชั้น 30.5 เงินเดือน 31,340 บาท มีกรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 และต้องหาว่ากระทำความผิดอาญากรณีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กระทำผิดตามมาตรา 78 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง กล่าวคือ ต้องไม่กระทำการหาผลประโยชน์อันทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน และองค์กร มีเหตุให้ออกราชการไว้ก่อน ได้ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ข้อ 3 (1), (3)
กล่าวคือ ด.ต.ภูวเมศฐ์ หิรัญวงศ์วราดล ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และต้องหาว่ากระทำผิดอาญาในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ และมีความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งหากให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการ อาจเกิดการเสียหายแก่ราชการและเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกควบคุมหรือขัง โดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญา และพิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และการพิจารณาคดีในความผิดทางอาญา จะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบกับ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2543 ข้อ 8 จึงให้ ด.ต.ภูเมศฐ์ หิรัญวงศ์วราดล ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย และการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.ตร.ได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 105 และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์. -สำนักข่าวไทย