คุณยายผวาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ถือเสียมสร้างแนวกันคลื่น

ตรัง 8 ก.ค. – คุณยายวัย 74 ปี ชาวเกาะลิบง จ.ตรัง ผวาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง หวั่นไร้ที่อยู่ ถือเสียมสร้างแนวกันคลื่นเอง วอนนายกรัฐมนตรีเร่งสั่งการช่วยเหลือชาวบ้านเกาะลิบง


คุณยายวัย 74 ปี ชาวเกาะลิบง ผวาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง หวั่นไร้ที่อยู่ ถือเสียมสร้างแนวกันคลื่นตามมีตามเกิดด้วยตัวเอง จากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเกาะลิบง ทำชาวบ้านกว่า 20 หลัง ได้รับผลกระทบนานแรมปี ที่ดินจมหายไปกับทะเล ปีละ 3-4 เมตร และมีบ้านชาวบ้านกว่า 10 หลัง พังลงทะเลแล้ว ในขณะที่ชาวบ้านรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง วอนถึงนายกรัฐมนตรีเร่งสั่งการช่วยชาวบ้านเกาะลิบง ในขณะที่ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง ทำแนวกันคลื่นป้องกันทรัพย์สิน หวั่นหากสูญเสียมากกว่านี้จะไร้ที่อยู่

ที่บริเวณพื้นที่บ้านหลังเขา หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง นายอาสาน คนขยัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.เกาะลิบง และชาวบ้านในพื้นที่กว่า 20 หลังคาเรือน ต้องประสบปัญหาน้ำทะเลและคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินไปหลายเมตรต่อปี บ้านบางหลังถูกคลื่นกัดเซาะจนพังลงไปในทะเล แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาแก้ปัญหา แต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ชายฝั่งบนที่ดินเอกสารสิทธิต้องช่วยเหลือตัวเอง สร้างแนวกันคลื่นป้องกันทรัพย์ของตัวเองกันตามกำลัง ยายบุหงา หญิงอายุมากที่ถือเสียมเดินตามแนวชายฝั่งหลังบ้าน เพื่อขุดทรายใส่ในท่อซีเมนต์ที่เอามาวางเรียงเป็นแนวกันคลื่นชั่วคราว บนศาลาหลังบ้านมีกองอุปกรณ์ ได้แก่ เชือก กระสอบ ซึ่งคุณยายใช้เงินส่วนตัวซื้อมา เพื่อใช้บรรจุทรายลงกระสอบทำแนวกันคลื่นไม่ให้รุกเอาที่ดินไป ด้วยความที่อายุมาก ทำคนเดียวไม่ไหว บางครั้งต้องออกเงินจ้างบ้านใกล้เคียงมาทำด้วย เสาไม้ที่ปักไว้ คุณยายจะเอาเชือกมาผูกยึดไว้กับต้นไม้ใกล้ชายฝั่ง ป้องกันหลุดลอยไปกับคลื่นที่พัดเข้าฝั่งอย่างแรง


ยายบุหงา เผยว่า ตนเดือดร้อนเรื่องคลื่นกัดเซาะเข้ามาในที่ดิน เพราะไม่มีอะไรกัน ถ้าปล่อยไว้บ้านคงจะพังในที่สุด เดือดร้อนมาน 5 ปี ทั้ง ๆ ที่ร้องเรียนไปหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ แต่พอลงมาดูก็หายเงียบกันไป ไม่เคยได้มาลงมือทำ มารับปากแล้วก็หายไป ตนเองใช้สองมือทำแนวกันคลื่นด้วยตัวเอง ตัดไม้ ซื้อกระสอบเพื่อใส่ทรายทำแนวกันคลื่นกั้นที่ดินของตัวเอง บางทีก็ใช้เงินส่วนตัวจ้างช่วยทำ ที่ดินหายไปเยอะมากแล้ว สมัยก่อนหลังบ้านเป็นแนวต้นมะพร้าวเรียงรายกัน แต่คลื่นได้กัดเซาะเอาทั้งที่ดิน ทั้งต้นมะพร้าว ลงทะเลไปหมดแล้ว ที่ดินหายไป 3 เมตร ตนต้องทำแนวกันคลื่นทุกวัน พอคลื่นมาสูงก็หยุดพัก คลื่นลดลงก็ทำต่อ ใช้เสียม ไม้ เชือก กระสอบทราย เป็นแนวป้องกัน ต่อสู้กับธรรมชาติ ถ้าไม่ทำเองไม่รู้ว่าคลื่นจะพัดจนที่ดินบ้านเรือนหายไปวันไหน อายุก็มากแล้ว คงไม่มีเงินไปซื้อที่ดินที่อื่นสร้างที่อยู่ได้ ตนเองอยากให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะที่ดิน พืชผล บ้านเรือนของชาวบ้าน ทุกวันนี้นอนผวาทุกคืน กลัวน้ำจะพัดกัดเซาะเอาบ้านไป ต้องลงทุนไปซื้อกระสอบใบละ 2-3 บาท มาใส่ทรายตั้งเป็นแนวกันคลื่น ลงทุน ลงแรง แก้ปัญหาเองทุกอย่าง ตอนนี้รู้สึกน้อยใจที่ไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือ อยากจะให้เขาช่วยอย่างจริงจังสักที เพราะตนเองอายุมาก จะให้ทำกระสอบทราย ปักหลักกันคลื่นเองทุกวัน ก็คงจะทำไม่ไหวแล้ว

นายอาสาน คนขยัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.เกาะลิบง บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 20 หลัง ก่อนหน้านี้บ้านชาวบ้านที่โดยคลื่นกัดเซาะและพังลงทะเล จำนวนกว่า 10 หลัง ตลอดแนวชายฝั่งความยาว 700 เมตร ที่ดิน น.ส.3 ของชาวบ้านลงไปอยู่ในทะเล แต่ละปีคลื่นจะกัดเซาะเข้ามาในที่ดินของชาวบ้าน 3-4 เมตร มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านเยอะเหมือนกัน ทั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัด แต่ไม่มีเจ้าภาพหลักมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ อยากวอนให้ผู้มีอำนาจมาช่วยเหลือชาวบ้าน ตอนนี้ตนเป็นห่วงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน บางหลังน้ำทะเลพัดกัดเซาะเข้ามาถึงชายคาแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ถูกน้ำทะเลถอนรากถอนโคนโค่นล้มไป ไม่รู้ว่าวันไหนน้ำจะมาพัดบ้านพังลงทะเล ชาวบ้านแต่ละคนมีที่ดินแค่นิดหน่อย ถ้าน้ำทะเลกัดเซาะไปหมด ไม่รู้ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน

“ขณะนี้ก็พยายามหาผู้หลักผู้ใหญ่ให้เขามาแก้ปัญหาที่ยั่งยืนให้ชาวบ้าน เพราะตรงนี้ติดพื้นที่อุทยานฯ หากจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐมนตรีท่านไหนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ก็ขอให้ลงมาดูแลความทุกข์ของชาวบ้านด้วย และตนต้องวอนไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย เพราะชาวบ้านเดือดร้อนหนักมาก ซึ่งบริเวณตรงนี้ถ้าเป็นช่วงมรสุม คลื่นจะสูงถึง 4 เมตร”


นายอาสาน บอกเพิ่มเติมว่า ด้วยที่ดินซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นเอกสารสิทธิ น.ส.3 เมื่อทะเลรุกเข้ามาในที่ดินของชาวบ้าน ทำให้ที่ดินตามเอกสารสิทธิตอนนี้ถูกแทนที่ด้วยน้ำทะเล และชาวบ้านเริ่มมีปัญหาอีก เมื่อกรมเจ้าท่าเข้ามาจัดเก็บภาษีรุกล้ำลำน้ำ รายละ 7,000-10,000 บาท ซึ่งความเป็นจริงนั้นทะเลเป็นผู้บุกรุกที่ดินชาวบ้าน แต่ชาวบ้านต้องจ่ายค่ารุกล้ำลำน้ำ จึงอยากให้หน่วยงานมาตรวจสอบความจริงให้ชาวบ้านด้วย

นายอับดุลรอหีม อายุ 48 ปี ชาวบ้าน บ้านหลังเขา หมู่ 5 ต.เกาะลิบง บอกว่า ที่ดินตรงนี้เป็น น.ส.3 เมื่อก่อนหลักหมุด น.ส.3 อยู่ไกลออกไปอีก แต่พอน้ำทะเลรุกเข้ามา ที่ดินส่วนนั้นก็หายไป แม้ชาวบ้านจะร้องเรียนให้แก้ปัญหา แต่กลับให้ความช่วยเหลือเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใช้ไม้ปักทำแนวกันคลื่น แต่ด้วยความที่คลื่นลมแรง ไม่นานแนวนั้นก็พังเหมือนเดิม แต่ละปีน้ำทะเลจะกัดเซาะที่ดินเข้ามา 3 เมตร และรุกเข้ามาทุกปี อยากให้สร้างแนวกันคลื่นที่แข็งแรง กันคลื่นได้ ที่ผ่านมามีหน่วยงานเรียกประชุมที่จะแก้ปัญหา แต่ประชุมแล้วก็เงียบ ไม่มาแก้ปัญหาสักที ชาวบ้านก็ไม่อยากไปประชุมแล้ว เพราะมาประชุมแล้วหายไป

ด้าน น.ส.มณทิพย์ อายุ 47 ปี ชาวบ้าน บ้านหลังเขา หมู่ 5 ต.เกาะลิบง บอกว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมาก อยากให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ช่วยเหลือชาวบ้านให้จริงจัง เพราะชาวบ้านต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

เริ่มใช้เครื่องจักรหนักเปิดซากอาคาร สตง.ถล่ม

102 ชั่วโมงแล้ว สำหรับปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุอาคาร สตง.ถล่ม หน่วยกู้ภัยจากนานาชาติให้ความหวังว่ายังมีโอกาสเจอผู้รอดชีวิต ทำให้การค้นหาวันนี้ต้องแข่งกับเวลาอย่างเต็มที่

ทองไทยนิวไฮต่อเนื่อง ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 550 บาท

ทองคำไทยผันผวนหนัก ปรับเปลี่ยน 18 ครั้ง ก่อนปิดตลาดปรับเพิ่ม 550 บาท ระหว่างวันขึ้นไปแตะนิวไฮ ทองคำแท่งขายออก 50,700 บาท ทองรูปพรรณขายออก 51,500 บาท ขึ้นไป ต่อเนื่อง