กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – “นพ.ณัฐพงศ์” รองอธิบดีกรมการแพทย์ จับสัญญาณโควิด-19 ช่วง 2 เดือนข้างหน้า จะมีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลมากขึ้น ย้ำโรงพยาบาลมีศักยภาพรองรับ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้ประสานกับสำนักการแพทย์ กทม. แบ่งโซนรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ย้ำประชาชนเข้มมาตรการสวมหน้ากากอนามัย
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า จากกรณีกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือเวียนถึงเขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศให้เตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นว่า กรมการแพทย์ในฐานะต้นสังกัดสถานพยาบาลทั่วประเทศ ได้มีการสำรองเตียงไว้ตลอดช่วงที่ผ่านมาอยู่แล้ว แต่เมื่อ 1 ก.ค.ไม่มีระบบ HI/CI/hospitel ทำให้เตียงรองรับผู้ป่วยหายไปส่วนหนึ่ง เช่น ในกรุงเทพฯ จาก 10,000 เตียง เหลือประมาณ 5,000 เตียง ซึ่งจะมีผู้ป่วยครองเตียงประมาณ 30% ซึ่งเพียงพอกับความต้องการเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ แต่ต้องยอมรับสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือมากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยบางคนไม่เข้าสู่ระบบการรักษาเพราะอาการไม่มาก ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจำนวนเล็กน้อยมาก โดยใช้ข้อมูลของผู้ป่วยหนัก คือ ผู้ป่วยปอดอักเสบและที่ต้องใช้ท่อหายใจ ซึ่งเพิ่มในจำนวนไม่มากคือ 680 เป็น 690 และ 700 เป็นต้น
รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปรียบเทียบว่า เหมือนโควิดช่วงนี้จะเป็นขาลงแต่ลงไม่มาก กลับมาหยุดค้างเติ่ง และขยับเพิ่มขึ้นอีก หรือเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยตามความเป็นจริงคือหากมีผู้ป่วยต้องใส่ท่อหายใจ 1 คน จะมีผู้ป่วยอาการไม่มากอีก 10 คน/หรืออัตราผู้ป่วยหนักต่อผู้ป่วยปกติ 1:10 ดังนั้นการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลขณะนี้ คือ ดูปริมาณเตียงให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อรองรับผู้ป่วย แต่ไม่มีความจำเป็นต้องไปเปิดโรงพยาบาลสนาม หรือทำ hospitel
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เราอาจเห็นจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพ-ปริมณฑล และเมืองใหญ่ ช่วงนี้อาจจะเริ่มเห็น เป็นข่าวผู้ป่วยที่อยู่เป็นหมู่ กลุ่มใหญ่ เช่น บ้านพักคนชรา / nursing home เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และญาติพี่น้องจะเกิดความวิตกกังวล ซึ่งกรมการแพทย์ได้ประสานกับ กทม. แบ่งโซนการดูแลผู้ป่วย ในกรุงเทพเป็น 6 โซน ในจำนวนนี้ 4 โซน โรงพยาบาลของ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบก่อน ส่วนที่เหลืออีก 2 โซนโรงพยาบาลราชวิถีและนพรัตน์ราชธานีจะเป็นผู้รับผิดชอบ หลักการคือหากผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงบ้านพักคนชรา หรือ nursing home ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนให้รายงานศูนย์สาธารณสุข กทม. ใกล้บ้านทั้ง 69 แห่ง เพื่อรักษาตามอาการก่อน หากมีอาการมากก็ประสานโรงพยาบาลตามโซนดังกล่าว โดยพยายามใช้หลักการไม่นำผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ ยกเว้นอาการหนักมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันแออัดและโกลาหล
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามพยากรณ์ของกรมควบคุมโรค ในเวฟนี้จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงภายใน 2 เดือนข้างหน้า แต่จำนวนจะไม่มากเท่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะอาการจะไม่รุนแรงรักษาที่บ้านได้ ส่วนการรักษาแบบเจอ แจก จบ ทำได้ทุกโรงพยาบาลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. หรือแม้แต่โรงพยาบาลเอกชน
ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ในทุกสถานพยาบาล กรมการแพทย์แก้ไขปัญหาด้วยการให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ อาการไม่มาก และได้รับการบูสเตอร์วัคซีนไม่ต่ำกว่า 3 เข็ม ให้พักเพียง 5 วัน เนื่องจากถือว่ามีภูมิคุ้มกันสูง หลังจากนั้นให้มาทำงานได้โดยใส่แมสก์ตลอดเวลา และควบคุมพื้นที่การทำงาน เพื่อป้องกันบุคลากรขาด
สุดท้าย แนะนำให้ประชาชนทั่วไปใส่แมสก์ในที่ชุมชนหนาแน่นหรือเมื่อออกจากบ้านตลอดเวลา แม้มีข้อปฏิบัติให้ใส่แมสก์ตามสมัครใจ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และขอเชิญชวนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน ให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ทัน. -สำนักข่าวไทย