รัฐสภา 30 มี.ค.- สนช.เห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เป็นกฎหมาย หลัง กมธ. ยอมถอนมาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว
พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ใช้เวลาในการศึกษารายงานเบื้องต้น 60 วัน จาก 90 วัน เนื่องจากถูกเร่งรัด โดยได้เชิญกลุ่มต่อต้าน ข้าราชการ และภาคธุรกิจ มาหารือกัน ซึ่งกรรมาธิการได้รวบรวมความคิดเห็นเท่าที่เป็นไปได้ เพราะความคิดเห็นของประชาชนมีมากจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องได้ทั้งหมด แต่กรรมาธิการฯ ได้มีการบัญญัติเพิ่มเติม และนำรายงานเข้าสู่การพิจารณาของสภา พร้อมส่งให้รัฐบาลพิจารณา
ทั้งนี้ ยืนยันบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ NOC เป็นเรื่องสำคัญจำเป็น เพื่อการบริหารจัดการกรณีการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม แต่ต้องมีการศึกษาผลวิเคราะห์อย่างรอบด้านก่อน ไม่ใช่การทำทันที ซึ่งเป็นการนำเสนอตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่า กรรมาธิการฯ ไม่เคยคิดให้กรมการพลังงานทหาร หรือพวกพ้องของตนมาเป็นแกนหลักในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือพวกพ้องของตัวเอง
“ขอยืนยันว่าการจัดตั้ง NOC ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นบริษัทน้ำมันแข่งกับ ปตท. โดยตั้งขึ้นมา เพื่อดูแลระบบการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาใหม่เท่านั้น” พล.อ.สกนธ์ กล่าว
พล.อ.สกนธ์ ยังปฏิเสธถึงข้อเรียกร้องจากกลุ่มต่อต้าน ที่ขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกจากการพิจารณาในวันนี้ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของกรรมาธิการ แต่เป็นหน้าที่ของ สนช. ที่จะต้องพิจารณา
น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. อภิปรายสนับสนุนการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในมาตรา 10/1 ว่า ร่างกฎหมายนี้ กำหนดเพิ่มระบบการแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต จากเดิมมีเพียงระบบสัมปทาน ซึ่งจำเป็นต้องมีบรรษัทขึ้นมาดูแลการทำสัญญากับบริษัทข้ามชาติ จากที่กรมเชื้อเพลงธรรมชาติที่ทำหน้าที่ในปัจจุบันแต่ขาดความคล่องตัว
ขณะที่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. อภิปรายหยิบยกรูปแบบของ NOC ทั่วโลก มาเปรียบเทียบ และยืนยันว่ารูปแบบของไทยในปัจจุบัน ที่ไม่จำเป็นว่ารัฐจะต้องถือหุ้นทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือ NOC จะต้องมีประสิทธิภาพ แข่งขันได้ สามารถลงทุนและมีการแข่งขันที่เป็นธรรมกับบริษัทข้ามชาติ ดังนั้น จะต้องแยกการกำกับดูแลออกจากบทบาทของผู้ผลิต จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะคงมาตรานี้ไว้หรือไม่
หลังจากที่สมาชิกอภิปรายไป และมีความเห็นที่หลากหลาย ประธานได้สั่งพักประชุมชั่วคราวเพื่อไปหลอมรวมความเห็นกันประมาณ 10 นาที และภายหลังพักการประชุม มีสมาชิกอภิปรายต่อ โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการกำหนดตามมาตรา 10/1 ไม่มีความชัดเจน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งเกรงว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามา อาจตีความเป็นอื่นได้
นายสมชาย แสวงการ วิปสนช. เสนอให้ประนีประนอมโดยขอให้กรรมาธิการฯ ตัดมาตรา 10/1 ออกแล้วเอาไปใส่ไว้ในข้อสังเกต
ทั้งนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าแม้กำหนดเป็นข้อสังเกตแล้ว ทางกระทรวงพลังงานพร้อมจะนำข้อสังเกตนี้ไปสู่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารทรัพยากรของประเทศชาติให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งรัฐมนตรีได้ฝากยืนยันในเรื่องนี้
ด้าน พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า การที่ผู้ช่วยรัฐมนตรียืนยันเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาประชาคม และรัฐมนตรีก็เคยยืนยันในเรื่องนี้ ดังนั้นขอยอมถอนมาตรา 10/1 ไปไว้ในข้อสังเกต เพื่อให้กฎหมายเดินหน้าต่อไปได้ และเกิดความรอบคอบ จากนั้นได้ลงมติรายมาตราในวาระ 2 และมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
ทั้งนี้ ยังเพื่อข้อสังเกตขอให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมโดยภายใน 1 ปีต่อไป.-สำนักข่าวไทย