กรุงเทพฯ 27 มิ.ย.- หลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยอาคารไฟไหม้สำเพ็ง นายก วสท.เผยพบอาคารหลายจุดเสียหาย โครงสร้างเหล็กเสียรูป พื้นแอ่นตัว ด้าน ผอ.โยธา กทม. ระบุบางส่วนเสียหายหนักต้องทุบทิ้ง เร่งสอบดัดแปลงอาคารขออนุญาตหรือไม่ ขณะที่ผู้ว่าฯ กฟน.ไม่ยืนยันเหตุไฟไหม้เกิดจากหม้อแปลงระเบิด แต่พร้อมเยียวยาผู้เสียหาย
สภาวิศวกร พร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือ วสท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และเจ้าหน้าที่จากเขตสัมพันธวงศ์ เข้าตรวจสอบอาคารพาณิชย์ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ย่านสำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบจุดเกิดเหตุ โดยวิศวกรได้เข้าไปตรวจสอบอาคารพาณิชย์ที่ถูกไฟไหม้ หลังประเมินพบว่าโครงสร้างของอาคารที่เห็นภายนอกสามารถให้เจ้าหน้าที่ทั้งสำนักโยธาและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าไปสำรวจ และเก็บหลักฐานภายในอาคารได้ และจากการตรวจสอบภายในพบว่าห้องที่ 1 และ 2 ปีกซ้ายของอาคารเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด เนื่องจากผนังของอาคารเป็นอิฐก่อเสริมโครงเหล็กทำเป็นชั้นของ เมื่อเจอความร้อนเหล็กจึงเสียรูป ทำให้พื้นแอ่นตัวลามไปจนถึงชั้น 3 และความร้อนยังแผ่ไปจนถึงผนังด้านหลังอาคารจนบิดตัวเช่นกัน ส่วนห้องที่ 3 ใกล้กับหม้อแปลงความเสียหายไม่มาก เนื่องจากโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังจากนี้ต้องตรวจสอบตามหลักวิศวกรเพื่อปรับปรุง แต่มีโอกาสที่จะทำให้กลับมายากต้องปรึกษาทาง กทม.ด้วย
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ห้องที่ 1 และ 2 โครงสร้างอาคารไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ต้องรื้อถอนทิ้ง โดยต้องทำการค้ำยันกันฝ้าและผนังอาคารทรุดตัว ส่วนห้องที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้กับหม้อแปลงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อาจจะต้องปิดพื้นที่และวางแผนอีกครั้งกับทางผู้อำนวยการเขตและขณะนี้ยังตรวจสอบไม่ได้ว่าที่เกิดเหตุมีการดัดแปลงอาคารหรือไม่ เนื่องจากมีความเสียหายเกิดขึ้นนั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่มาประเมินกับสำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลารื้อถอนนานเท่าใด แต่จุดเพลิงไหม้เป็นพื้นที่อันตรายห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่เด็ดขาด
ขณะที่นายวิลาส เฉลยสัตน์ ผู้ว่าการ กฟน. ระบุยังไม่ยืนยันว่าสาเหตุไฟไหม้ครั้งนี้เกิดจากหม้อแปลงระเบิดหรือไม่ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง โดยปกติแล้วหม้อแปลงแต่ละลูกจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี ส่วนหม้อแปลงลูกที่เกิดเหตุตรวจสอบแล้วใช้งานมาแล้ว 20 ปี และเพิ่งตรวจสภาพการใช้งานเมื่อกลางปีที่แล้ว และในกรุงเทพมหานครที่หม้อแปลงเกิดไฟไหม้กว่า 400 จุด พร้อมยืนยันว่าการติดตั้งหม้อแปลงแต่ละจุดเป็นไปตามาตรฐานห่างจากอาคาร 60 เซนติเมตร เบื้องต้นขอยอมรับในความผิดพลาดไว้ก่อน ส่วนประชาชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมเยียวยาผู้เสียหายและผู้เสียชีวิต
นางสาวบุษกร แสงสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร ระบุว่าตัวอาคารมีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้อีก ต้องระมัดระวัง และห้ามใช้พื้นที่ ขณะที่ตัวอาคารมีการใช้งานมานาน ขอให้ประชาชนในพื้นที่ระวังในการเข้าไปใช้พื้นที่ติดกับตัวหม้อแปลงโดยตรง เช่น การค้าขายที่อยู่ด้านล่างควรที่จะมีการเว้นระยะ เพราะเมื่อเกิดเหตุจะเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น สิ่งที่เป็นห่วง คือ การจัดเก็บสิ่งของและการใช้อาคาร โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ขณะนี้มีการใช้งานเก็บสิ่งของจำนวนมาก อย่างอาคารที่เกิดเหตุมีการเก็บพลาสติก เมื่อติดไฟและทำให้ดับยาก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ต้องถอดบทเรียนทั้งการติดตั้งบันไดหนีไฟ การติดตั้งเหล็กดัด โครงสร้างอาคารพาณิชย์ที่ใช้ประกอบกิจการ จะต้องเป็นอาคารที่ไม่เป็นจุดเสี่ยงเกิดอัคคีภัย
รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ได้จัดทีมทำการสำรวจร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะไปบริหารจัดการข้อมูล โดยสภาวิศวกรพร้อมให้ความร่วมมือทั้งด้านงานวิศวกรรมที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรอาสาเข้ามาช่วยกันทำงานกับทาง กฟน.สำรวจจุดที่ต้องเฝ้าระวังให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน
นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาคารพาณิชย์เสียหายมีอย่างน้อย 4 คูหา มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท พร้อมยอมรับว่าเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้รุนแรงที่สุด เท่าที่เคยเกิดมาในเขต เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 2 คน และเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก หลังจากหม้อแปลงระเบิดแล้วลามเข้าไปข้างใน หลังจากนี้สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจจุดเสี่ยงที่มีสายไฟเก่า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบสายไฟที่อยู่ใกล้บ้านและภายในบ้านว่าอยู่ในสภาพเก่า มีความเสี่ยงจะไหม้อีกหรือไม่ พร้อมทั้งให้ความรู้ แนะนำวิธีเผชิญเหตุเมื่อเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก .-สำนักข่าวไทย