ทำเนียบฯ 28 มี.ค.- นายกฯ รับ รัฐบาลต้องการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อวางแผนพลังงานในอนาคต ย้ำ เป็นร่างเดิมตั้งแต่ปี 57 ยืนยัน กรมพลังงานทหารจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แจง ทหารเข้ามาเป็น กมธ.พลังงาน เพราะไม่มีใครรับ เหตุถูกกดดันจากฝ่ายคัดค้าน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึง ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังจะพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 30 มีนาคม นี้ ว่า เป็นกฎหมายเดิมที่มีการยกร่างมาตั้งปี 2557 และมีความพยายามจะผลักดันให้ออกมา ตั้งแต่ก่อนที่ตนเองจะมาเป็นรัฐบาล แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน จนไม่สามารถออกกฎหมายได้ รัฐบาลนี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาตามลำดับ จนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาดูแล
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการก็ถูกเครือข่ายปฏิรูปพลังงานมากดดัน ยอมรับว่าในบางเรื่องไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะประเทศไทยยังไม่พร้อม และยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไทยมีบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ ดูแลสัมปทานอยู่แล้ว แต่กลุ่มดังกล่าวก็ยังจะประกาศมาประท้วงที่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ยอมรับกับข้อสรุปที่ออกมา และใช้แนวทางการประท้วง ที่ทำให้ประเทศเสียหาย และเสียประโยชน์ พร้อมกับขยายความเชื่อมโยงไปยังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน
“ผมยืนยันว่า กรมพลังงานทหารจะไม่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ เพราะกรมพลังงานทหารจะทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะมีหน้าที่จำกัด จะให้ดำเนินการเป็นสถานประกอบการธุรกิจไม่ได้ เนื่องจากขีดความสามารถไม่ถึง ดังนั้น จึงไม่มอบหมายให้ทำ ขอให้ทุกเครือข่ายได้เข้าใจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลมีความต้องการให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มีผลบังคับใช้ เพื่อมาดูแลในเรื่องของการลงทุน และการขุดเจาะน้ำมัน เพราะมีหลายพื้นที่ที่จะต้องทำสัมปทาน หรือ แบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อวางแผนพลังงานที่จะขาดแคลนในอนาคต
“หากมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นใครจะเป็นผู้ดูแล ก็ยังไม่ทราบ แต่ที่ชัดเจน คือไม่ใช่ผม” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คนอยู่ในคณะกรรมาธิการการพลังงาน ที่พิจาณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นั้น เป็นเพราะไม่มีใครเข้ามาเป็นกรรมาธิการ เพราะถูกกดดันจากกลุ่มที่คัดค้านอย่างหนัก ทหารจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ก็ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความข้าใจ แต่พบว่าประชาชนในพื้นที่กลับเข้าใจไม่ตรงกันกับรัฐบาล ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ท้ายสุดรัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แต่หากยังมาประท้วง รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาให้อภัยแล้วหลายครั้ง ทุกคนต้องยอมรับกติกา เพราะอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ .- สำนักข่าวไทย