รัฐสภา 21 มิ.ย.-“เรืองไกร” ปัดรับงานถ่วงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจให้หลุดกรอบปฏิทินสภาฯ แนะฝ่ายค้าน ยื่นญัตติใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบญัตติการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ชอบด้วยหลักธรรมนูญมาตรา 151 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยนายเรืองไกรระบุว่า ฝ่ายค้านทำเอกสารให้ ส.ส.ลงชื่อเพื่อเสนอญัตติฯ ครั้งแรกมีชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย 10 คน แต่การยื่นต่อประธานสภาฯ มีชื่อรัฐมนตรี 11 คน ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกสารญัตติฯ เมื่อเทียบหน้าต่อหน้าพบว่า เอกสาร 2 ฉบับมีตัวอักษรเดียวกัน วันที่วันเดียวกัน แต่เนื้อหามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ขณะที่การลงนามของ ส.ส.เหมือนเดิม
นายเรืองไกร กล่าวว่า ช่วงเวลาก่อนการยื่นประธานสภาฯ ที่มีการแก้ไขญัตติ ทำให้นึกถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ที่กล่าวถึงหลักการแก้ไขญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเพิ่มให้ ส.ว.ลงเลือกตั้ง ต้องทำใหม่หากจะแก้ไข ซึ่งในตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญตีตกญัตติ ด้วยกระบวนการไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง (1) กรณีนี้จึงคล้ายกัน โดยเฉพาะฝ่ายค้านไม่ได้ลงนามญัตติใหม่ หลังจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และยื่นต่อประธานสภาฯ ซึ่งไม่ใช่เจตนาของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลงนาม จึงเข้าข่ายกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ถ้าฝ่ายกฎหมายสภาฯ ชี้ว่าญัตติถูกต้อง และเดินหน้าจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมจะติดตาม เพราะเรื่องนี้อาจจะเข้าข่ายการจงใจใช้หน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรือไม่ และเข้าข่ายจริยธรรมข้อ 8 เรื่องการยินยอมให้ผู้อื่นนำชื่อไปใช้ รวมถึงเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งผมจะยื่นร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านต่อไป” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร ยืนยันว่า ไม่ได้รับงานใคร ไม่ว่าจะ ครม.หรือฝ่ายค้าน ในการยื่นร้องต่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า อาจเป็นเกมยืดให้ญัตติฯ เลื่อนออกไปจนหมดสมัยประชุม เพื่อให้ญัตติตกไปนั้น เพราะหากฝ่ายค้านจะแก้ไขและยื่นญัตติใหม่ก็สามารถดำเนินการได้ทันในสมัยประชุมนี้ พร้อมขอให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ส่วนตนนั้นยืนยันจะทำหน้าที่ในฐานะคนตรวจสอบ.-สำนักข่าวไทย