กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – สคบ.ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสาขาดารุมะซูชิ เทลูกค้าซื้อ e-voucher หลังผู้บริโภคร้องเรียนแล้วกว่า 500 ราย หนำซ้ำเจ้าของห้างร้องถูกค้างค่าเช่าที่นาน 2 เดือน
พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดารุมะซูชิ สาขาเดอะแจส รามอินทรา หลังกรณีประเด็นร้านอาหารญี่ปุ่นบุฟเฟ่ต์ DARUMA sushi (ดารุมะ ซูชิ) ปิดให้บริการโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า ประกอบกับเฟซบุ๊กเพจของร้านได้หายไป และไม่สามารถติดต่อได้ จนทำให้ลูกค้าที่ซื้อ Voucher กังวลและเข้าร้องเรียนเอาผิดกับเจ้าของร้านดังกล่าว โดยเปิดเผยว่ามีผู้บริโภคที่ซื้อ e-voucher เข้าร้องเรียนกับ สคบ. เกือบ 500 รายแล้ว วันนี้ทาง สคบ. แบ่งตรวจสอบโดยเฉพาะการเรียกให้ผู้ที่ดูแลเว็บและแอปพลิเคชันที่เปิดขายเข้ามาให้ข้อมูล เนื่องจากการเป็น e-voucher เกรงว่าจะมีข้อมูลลูกค้าที่ซื้อไปตกหล่น เนื่องจากหลักฐานการซื้อต่าง ๆ จะเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี และเอาผิดเจ้าของร้านและผู้ที่ออกโปรโมชันดังกล่าว จนมีผู้เสียหายจำนวนมาก
จากพฤติการณ์พบว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และดูเจตนาว่าเข้าข่ายหลอกลวงฉ้อโกงด้วย ซึ่งทราบมาว่า บริษัท ดารุมะซูชิ ได้เปิดทำธุรกิจบุฟเฟ่ต์แซลมอนนาน 4-5 ปี ปัจจุบันมี 27 สาขา เดิมบุฟเฟ่ต์มีราคา 499 บาท และมีการจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำเหลือ 199 บาท เมื่อไม่นานมานี้ แต่มีเงื่อนไขต้องซื้อจำนวน 5 ใบ และเปิดจำหน่าย e-voucher ผ่านแอปพลิเคชันทางร้าน ซึ่งทราบมาว่าจำหน่ายได้จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นนายหน้าที่ซื้อไว้จำนวนมาก เพื่อขายต่อบวกกำไร เช่น มีรายหนึ่งซื้อไป 2,600 ใบ ขายต่อในราคาใบละ 245 บาท ซึ่งทราบมาว่าขายได้หมดแล้ว
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2022/06/สคบ.1.jpg)
เบื้องต้น สคบ.แบ่งผู้เสียหายออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ซื้อทั่วไป จะมีพวกที่เป็นผู้ซื้อที่เป็นนายหน้า ซื้อมาขายต่อ แม้ไม่ได้อยู่ในนิยามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค แต่เมื่อมีการขายต่อหมดแล้ว ก็ต้องดูรายละเอียดเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคทุกคนไม่ตกหล่น 2. พนง.ที่ตกงานจากการปิดกิจการอย่างกะทันหัน 3. กลุ่มผู้ร่วมทำธุรกิจซื้อแฟรนไชส์ 4. กลุ่มซัปพลายเออร์ที่มีการถูกสั่งซื้อวัตถุดิบไปแล้วและติดหนี้จำนวนมาก และ 5. กลุ่มเจ้าของสถานที่ร้านที่เปิดให้เช่า ซึ่งอย่างที่ห้างที่มาดูนี้ก็ทราบมาว่าไม่ได้ค่าเช่าที่มานาน 2 เดือนแล้ว
ส่วนนายเมธา ชลิงสุข ที่ถูกระบุเป็นเจ้าของแบรนด์ดังกล่าวเป็นกรรมการบริหาร เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกไปแต่ได้รับข้อมูลจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาว่า ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ต้องทำเรื่องขอยืนยันจาก ตม.อีกครั้ง ซึ่งทาง สคบ.จะมีการดำเนินการเอาผิดทางแพ่ง ส่วนการดำเนินคดีทางอาญาจะเป็นส่วนของ ตร.ปคบ.และดีเอสไอ เพราะจากพฤติการณ์พบอาจผิดโฆษณาเชิงหลอกลวง เข้าข่ายดีเอสไอดำเนินคดีได้
สคบ.ยังเตือนผู้บริโภค หากจะซื้อ e-voucher ต้องเก็บหลักฐานการโอนเงิน ใบโฆษณาผ่านเว็บฯ แชตไลน์ แคปเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย และหากดูว่าร้านไหนจัดโปรฯ ถูกเกินจริง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะหลอกลวง. -สำนักข่าวไทย