กรุงเทพฯ 9 ม.ค.- สคบ.แจง หลัง ดิไอคอนกรุ๊ป ถูกเพิกถอน ทะเบียนประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ไม่สามารถขายสินค้าผ่านเว็บไซต์-จดทะเบียนใหม่ได้ในระยะเวลา 5 ปี พร้อมส่งเรื่องให้ ดีเอสไอ เอาผิดทางอาญา ส่วนสินค้าสตอกของตัวแทนขายได้ไม่ผิด
นางสาวทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าวไทย กรณี สคบ. มีคำสั่งเพิกถอนทะเบียน การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2568 ว่า ได้มีการส่งหนังสือคำสั่งไปให้บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป รับทราบแล้ว ในวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไม่สามารถประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้
โดยเมื่อมีการเพิกถอนทะเบียน การประกอบธุรกิจฯ บริษัทก็ไม่สามารถที่จะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากตอนที่ขอจดทะเบียน แจ้งว่ามีการขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ แต่จะพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวพบว่า ลักษณะการประกอบธุรกิจไม่เป็นไปตามที่ได้มีการขอจดทะเบียนเป็นเหตุให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียน และประกอบกับมีพฤติการณ์เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว นายทะเบียนในฐานะเลขาธิการ สคบ. จึงได้เพิกถอนการจดทะเบียน ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถนำเสนอขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ในลักษณะตลาดแบบตรงได้อีกต่อไป และในช่วงระยะเวลา 5 ปี บริษัทนี้หรือตัวกรรมการในชุดเดียวกันก็ไม่สามารถมาขอจดทะเบียนในการประกอบธุรกิจลักษณะตลาดแบบตรงได้
ส่วนความผิดตามกฏหมาย นั้น รักษาราชการแทนเลขาธิการ สคบ. ระบุว่า การข่ายความผิดตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรงหรือไม่ กรณีลักษณะหาเครือข่ายและได้รับผลตอบแทนจากจำนวนเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ผ่าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)แล้ว ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นโทษทางอาญา ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ขณะที่การประกอบธุรกิจขายตรงที่ไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งบริษัทก็ต้องไปต่อสู้คดีอาญาต่อไป
เมื่อถามถึงสินค้าทั้งหมดรวมถึงสินค้าที่ตัวแทนนำไปสต๊อกต้องหยุดการจำหน่ายหรือไม่ รักษาราชการแทนเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า กรณีที่สินค้ามีการกระจายไปแล้วกับเครือข่ายตัวแทนสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ เพียงแต่ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่จะนำสินค้ามาเสนอขายผ่านทาง เว็บไซต์ต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว
“กรณีสินค้าที่มีอยู่และกระจายไปแล้วไม่มีผลกับสินค้าเหล่านั้น เพียงแต่บริษัทดิไอคอนกรุ๊ปต้องหยุดประกอบธุรกิจลักษณะที่มีการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ที่ได้จดแจ้งเอาไว้”
นางสาวทรงศิริ ยังกล่าวว่า ขอฝากผู้ประกอบธุรกิจให้ดำเนินการตามที่มีการยื่นขอประกอบธุรกิจเอาไว้ อย่างกรณีตลาดแบบตรงขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ก็ให้ดำเนินการตามนั้น คือขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ ไม่กระทำการในลักษณะเข้าข่ายการขายตรง เพราะแบบนั้นจะต้องมีแผนการจ่ายผลตอบแทน มีการหาสมาชิก แต่ถ้าเป็นธุรกิจขายตรง ที่มีแผนการจ่ายผลตอบแทน และมีการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ด้วย ก็ต้องดำเนินการขอจดทะเบียนทั้ง 2 แบบเพราะปัจจุบันการทำธุรกิจมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทขายตรงในปัจจุบันมีการยื่นขอจดทะเบียนตลาดแบบตรงด้วย เป็นการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ซึ่ง สคบ. ก็จะดำเนินการจดทะเบียนให้ทั้งขายตรงและตลาดแบบตรง
“อยากให้ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวงผู้บริโภค และในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวังในการร่วมระดมทุน หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีการให้ผลตอบแทนสูง อาจเข้าข่ายเรื่องแชร์ลูกโซ่ และอาจตกเป็นผู้ที่ถูกหลอกลวงได้จึงขอให้ระมัดระวัง” .-316(1) -สำนักข่าวไทย