กรุงเทพฯ 15 มิ.ย.-ทีมเศรษฐกิจเตรียมเสนอ ครม.ช่วยเหลือค่าครองชีพอังคารหน้า ปัดฝุ่น 10 มาตรการ มุ่งเน้นกลุ่มผู้เดือดร้อน รายย่อย หลังต้นทุนสินค้าพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หนุนใช้เอทานอลผสมน้ำมันเครื่องบิน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมทีมเศรษฐกิจ กระทรวงพลังงาน คลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ช่วงค่ำวานนี้ (14 มิ.ย.) ได้ข้อสรุปร่วมกันในการออกมาตรการลดค่าครองชีพ หลังได้รับกระทบหนักจากต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น เหลือเพียงให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาเงินช่วยเหลือของแต่ละหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่เหลืออยู่ 75,000 ล้านบาท เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า โดยยังเน้นช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก และประชาชนรายย่อย เช่น มาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับครัวเรือนใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังคงช่วยเหลือต่อไป ยอมรับทุกมาตรการที่เตรียมออกมานั้น หวังช่วยเหลือ ตอบโจทย์แก้ปัญหาต้นทุนราคาสินค้าแพง เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงปัญหาเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าแพง กระทรวงพลังงานจึงพยายามตรึงราคาน้ำมันให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะต้นทุนราคาสินค้าขณะนี้สูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ทั้งราคาพลังงาน ค่าขนส่ง สินค้าอุปโภค บริโภค 18 สินค้าหลัก
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวย้ำว่า เมื่อออกมาตรการช่วยเหลือในระยะหนึ่งแล้ว ปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่นด้านการท่องเที่ยว เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เริ่มออกท่องเที่ยว และสาขาอื่นจะเริ่มฟื้นเศรษฐกิจได้บางส่วน 3 สถาบัน คลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ เห็นสอดคล้องกัน คาดการณ์จีดีพีขยายตัวในปี 2565 ร้อยละ 3-3.5 ขณะที่นักลงทุนยังเชื่อมั่นสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศ กรณีอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ IMD จัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขัน ประจำปี 2565 เดนมาร์กครองอันดับ 1 ไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งในปี 2564 ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบหนักมาก เศรษฐกิจชะลอตัวไปทุกประเทศ จึงยอมรับว่า ไทยมีอันดับลดลง เหมือนกับหลายประเทศ แต่หลังจากนี้จะเริ่มกลับมาดีขึ้น
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามของ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ กับกลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 1 ของอาเซียน เพื่อนำเอทานอลมาผสมในการผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ เหมือนกับการผลิตแก๊สโซฮอล์ เพื่อใช้ในเครื่องยนต์เบนซิน หวังลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจการบินตามที่ IATA ตั้งเป้าหมาย Net Net fly Zero ในปี 2050.-สำนักข่าวไทย