สำนักข่าวไทย 7 มิ.ย. – เลขาฯ รมว.ยุติธรรม ระบุกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เรียก “อัจฉริยะ” มาสอบสวนรอบ 2 เพิ่ม แต่ไม่มา กลับพูดผ่านสื่อดีเอสไอเป็นที่พึ่งไม่ได้ เผยหลักฐานคดีแตงโมเวลานี้ยังไม่เพียงพอที่จะกล่าวหาผู้ใดว่าฆาตกรรม
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวไทย ถึงกรณีดีเอสไอกำลังสืบสวนคดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม ว่า จากที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ ต่อมาอธิบดีดีเอสไอแต่งตั้ง พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน หาข้อมูลว่าคดีดังกล่าวจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ ซึ่งได้เชิญหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวน เช่น 5 คนที่อยู่บนเรือ แพทย์ผู้ชันสูตรศพ แพทย์นิติเวช เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ พนักงานสอบสวนที่ทำสำนวน รวมถึงนายอัจฉริยะ ที่เคยเชิญมาสอบแล้วครั้งหนึ่ง
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยล่าสุดมีการเชิญนายอัจฉริยะ มาสอบเพิ่มเติม แต่นายอัจฉริยะไม่มา กลับมีข่าวออกมาจากนายอัจฉริยะว่าดีเอสไอเป็นที่พึ่งไม่ได้ ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง ดีเอสไอทำคดีทุกคดีที่ประชาชนเดือดร้อนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีพยานหลักฐานที่จะกล่าวโทษคนอื่นได้ หรือจะยกเป็นคดีพิเศษได้ ทีมสืบสวนในชั้นต้น จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้เพียงพอเสียก่อน หากหลักฐานไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถยกมาเป็นคดีพิเศษได้ แต่ถ้ามีหลักฐานเพียงพอ ดีเอสไอก็ต้องรับเข้าเป็นคดีพิเศษแน่นอน แต่เวลานี้พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวด้วยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังหาพยานหลักฐานอยู่ เมื่อวานนี้มีการลงพื้นที่เพื่อดูลักษณะของจุดเกิดเหตุ จุดพบศพ การไหลเวียนของน้ำ ไล่ดูจุดวงจรปิด ตั้งแต่สะพานพระราม 5 จนถึงสะพานพระราม 7 พบอีกหลายอย่างที่พนักงานสอบสวนเก็บเป็นข้อมูลไว้ ซึ่งวันนี้หากนายอัจฉริยะมีเวลาอยากให้เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ได้มา ดีเอสไอก็ยังคงดำเนินการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานต่อไป เพื่อสรุปให้ได้ว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ โดยดีเอสไอมีกรอบเวลาสืบสวนชั้นต้น 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องรอถึง 6 เดือน หากพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่เพียงพอก็มีข้อสรุปก่อนได้
ส่วนกรณีสำนวนคดีอยู่ที่อัยการ หากอัยการสั่งฟ้องคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือเป็นคนละฐานความผิด ที่มีคนมาร้องต่อดีเอสไอให้สืบสวนในคดีฆาตกรรม หากพบว่าเป็นการฆาตกรรมในภายหลัง ก็สามารถดำเนินคดีฆาตกรรมได้ ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของคณะสืบสวนชั้นต้นของดีเอสไอ.-สำนักข่าวไทย