ทำเนียบรัฐบาล 24 มี.ค. – บอร์ดบีโอไอเห็นชอบส่งเสริมลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เปิดทางเอสเอ็มอียื่นขอรับส่งเสริมกิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ พร้อมเปิดให้การส่งเสริมกิจการด้านบริการทางการแพทย์
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยและสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ของโลก ที่ประชุมจึงเห็นชอบส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โดยให้ส่งเสริมการผลิตทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถโดยสาร และให้ได้รับสิทธิและประโยชน์แตกต่างกันตามระดับเทคโนโลยีในการผลิต
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการดังนี้ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม ผู้สนใจขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี
กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 – 8 ปี ทั้งนี้ หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยกิจการนี้ ที่ประชุมเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพที่จะทำการผลิตได้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าเกณฑ์ปกติ 2 ปี
กิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มชิ้นส่วนอีก 10 รายการที่จะให้การส่งเสริมให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้แก่ กิจการผลิตแบตเตอรี่ กิจการผลิต Traction Motor กิจการผลิตระบบปรับอากาศด้วยไฟฟ้าหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ กิจการผลิตระบบควบคุมการขับขี่ กิจการผลิต On-Board Charger กิจการผลิตสายชาร์จแบตเตอรี่พร้อมเต้ารับ-เต้าเสียบ กิจการผลิต DC/DC Converter กิจการผลิต Inverter กิจการผลิต Portable Electric Vehicle Charger กิจการผลิต Electrical Circuit Breakerกิจการพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) และกิจการผลิตคานหน้า/คานหลังสำหรับรถโดยสารไฟฟ้า และหากตั้งโครงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี
กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องเสนอแผนการจัดหาอุปกรณ์และชิ้นส่วน จะต้องเสนอแผนพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ส่งเสริมกิจการบริการทางการแพทย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยจะเปิดประเภทให้ส่งเสริม 4 กิจการ ได้แก่ 1. กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการบริการในอนาคต โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี 2. กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ และหัวใจล้มเหลว) ด้านมะเร็ง (เคมีบำบัด และรังสีวิทยา) และด้านไต (ศูนย์ไตเทียม) ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้นๆของคนไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี
3. กิจการสถานพยาบาล ให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เฉพาะเพื่อเป็นการกระจายการให้บริการไปอย่างทั่วถึงสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยให้การส่งเสริมกิจการสถานพยาบาลเฉพาะใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และ 4. กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้รวดเร็ว โดยจะให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี.-สำนักข่าวไทย