กรุงเทพฯ, ปทุมธานี 22 มี.ค.-การตายของ “เต่าออมสิน” เป็นอุทาหรณ์กระตุ้นเตือนสังคมให้ฉุกคิดก่อนจะโยนเหรียญในบ่อเต่า แต่การนำเต่ามาปล่อยในวัดตามความเชื่อว่าจะได้มีชีวิตยืนยาวนั้น ยังมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก
ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำสำรวจบ่อเต่าภายในวัดใน กทม.พบว่าร้อยละ 70 ของวัดทั้งหมด 400 เเห่ง มีบ่อเต่า เเต่ละบ่อมีเต่าประมาณ 500-600 ตัว เเละบางวัดสูงถึง 2,000-3,000 ตัว อย่างเช่นวัดนี้
วัดโพสพผลเจริญปรับปรุงบ่อดินเป็นบ่อน้ำเพื่อให้เต่าได้อยู่อาศัย หลังมีศิษย์วัดนำมาปล่อยเป็นจำนวนมาก เเต่เมื่อดูจากสภาพเเวดล้อมภายในวัด เเม้จะมีการบำบัดน้ำเสีย สร้างทางลาดเอียงด้วยคอนกรีต แต่ไม่มีแหล่งธรรมชาติ จึงอาจทำให้เกิดความเเออัด น้ำถ่ายเทไม่สะดวก และเต่าเเย่งอาหารกัน จนทำให้เครียด สุขภาพไม่ดีเเละตายได้
ประชาชนที่มาทำบุญเป็นประจำเล่าว่า จำนวนเต่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนนำมาปล่อย ทั้งที่ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะ เเละคนส่วนใหญ่จะมาดูเต่าที่วัด เพราะพบในธรรมชาติได้ยาก
ขณะที่พระลูกวัดได้พยายามห้ามเเละรณรงค์ไม่ให้ปล่อยเเละโยนเหรียญ เเต่ขัดศรัทธาไม่ได้ ยืนยันศาสนาพุทธไม่มีความเชื่อเรื่องการโยนเหรียญ แต่บางแห่งอาจใช้เป็นกลยุทธ์ให้มาทำบุญ ซึ่งหากอยากได้บุญตามความเชื่อว่าจะทำให้อายุยืน ควรปล่อยในธรรมชาติหรือถิ่นที่อยู่
สอดคล้องกับวัดประยุรวงศาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เล่าว่า คนมักปล่อยเต่าตามอายุ ที่พบมากสุดคือ 1 คนปล่อย 79 ตัว ในช่วงเเรกๆ วัดต้องเก็บซากเต่าที่ตายเพราะอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่ไม่เหมาะสมถึงวันละ 100 ตัว เเม้ห้ามโยนเหรียญ เเต่ทุกครั้งที่ทำความสะอาด จะพบเหรียญเป็นจำนวนมาก เเนะวัด-ประชาชนตั้งกองทุนเต่า หากปล่อยเเล้วต้องช่วยดูเเลอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับเต่าในประเทศไทยมี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ เต่าเหลือง เต่าหับ เต่าดำ เต่าบัว และเต่านา ซึ่งเป็นเต่าที่คนนิยมปล่อยมากที่สุดเเละพบตายมากที่สุดเช่นกัน ขณะที่มีการนำเต่าญี่ปุ่นสายพันธุ์กินเนื้อ มาปล่อย บางครั้งทำร้ายเต่าพันธุ์อื่น และปล่อยเต่าในวัด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เต่าในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย