กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – นายกรัฐมนตรีสั่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อน 5 สินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมทูตเกษตรทั่วโลกรับนโยบายลุยแผนเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทย
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) วันนี้ (20 มี.ค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เสนอหลักการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรยุทธศาสตร์ 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสัมปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ พร้อมสั่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อน 5 สินค้าเกษตรยุทธศาสตร์ ภายใต้ ป.ย.ป.ขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมทั้งระบบ โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีดูแล
ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแก้ไข 3 สินค้า คือ ข้าว ยางพาราและข้าวโพด มียุทธศาสตร์ที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเน้นการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่หลายหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกันและมีงบประมาณเพิ่ม โดยเฉพาะข้าวโพดปัจจุบันมีปัญหาปลูกบนพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องหรือบุกรุกป่า จึงเสนอให้ปลูกในนาแทนการปลูกข้าวรอบ 2 รอบ 3 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 3.3 ล้านไร่ จากพื้นที่เหมาะสมที่จะรองรับได้ทั้งหมด 17 ล้านไร่ ซึ่งผลผลิตจะพอเพียงกับความต้องการในประเทศที่มียอดถึงปีละ 4.6 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกรวมกว่า 7 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ร้อยละ 52 เป็นการปลูกในพื้นที่ที่เป็นการบุกรุกป่าหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือกันต่อไป หากเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำระดับ 1 ระดับ 2 จะไม่สามารถเข้าไปทำการเกษตรได้เลย แต่หากเป็นแหล่งน้ำระดับ 4 ระดับ 5 ขึ้นกับการพิจารณาของกระทรัพย์ฯ ว่าจะอนุญาตหรือไม่ต่อไป ข้อเสนอที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอวันนี้หากจะดำเนินการปีนี้จะต้องมีงบประมาณรองรับ ด้านยางพาราจะผลักดันให้มีการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ลดพื้นที่ปลูกยางพาราที่ต้นหมดอายุลงพร้อมปรับเปลี่ยนนำพันธุ์ดีปลูกแทนในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอ โดยจะแก้ปัญหาปัจจุบันและระยะยาวและมีการกำหนดในรายละเอียดต่อไป
พลเอกฉัตรชัย ยังมอบนโยบายทูตเกษตรต่างประเทศในการประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “การขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศภายใต้นโยบาย 4.0” ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบรวมถึงปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ปัญหาข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีความรุนแรงและความเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ ระยะ 5 ปี
สำหรับสิ่งที่เน้นย้ำทูตเกษตร 3 ส่วนหลัก คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะการเน้นย้ำยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย 2. การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ประเด็นปัญหา อุปสรรค แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรแต่ละประเทศกลับมายังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อกำหนดแผนการเจาจาหรือปรับกลยุทธ์ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น 3.การประชาสัมพันธ์ แนะนำสินค้าเกษตรตัวใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จัก เช่น มะยงชิด ที่ประเทศอินโดนีเซียให้ความสนใจ เป็นต้น
ส่วนเป้าหมายการเรียกประชุมทูตเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะร่วมกำหนดแนวทางกรอบการดำเนินงานและพร้อมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเศรษฐกิจฐานรากของไทย เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในต่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย รวมถึงความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศเป้าหมายต่าง ๆ ทำให้ไทยสามารถเตรียมการรองรับและบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเจรจาและติดตามการแก้ไขปัญหา และอำนวยความสะดวกทางการสินค้าเกษตรของไทยในประเทศที่ประจำการที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รวมทั้งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น และแสวงหาตลาดใหม่ โดยปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น การเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา IUU กับสหภาพยุโรป (อียู).-สำนักข่าวไทย