กรุงเทพฯ 22 เม.ย.-การไฟฟ้าของไทย ระบุ ไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต โดยในปี 2567 กฟผ.จะรองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 6 แสนคันต่อวันและพัฒนาต่อยอดให้ได้ 1 ล้านคันต่อวัน
การไฟฟ้านครหลวง MEA หรือ กฟน.จัดเสวนาเรื่อง”พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืน”โดยมีนายวิลาส เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน.เป็นประธานและมี 3 ผู้ว่าการไฟฟ้าเข้าร่วม คือ ผู้ว่า กฟน. ผู้ว่า กฟผ.และผู้ว่า กฟภ.
นายบุญญนิต วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.มี 3 กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กร คือ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่และการใช้เทคโนโลยีในอนาคตเช่นการดักเก็บคาร์บอน รวมทั้งสนับสนุนและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้งานหลักของ กฟผ.ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่นการจัดการต้นกำเนิดพลังงาน โครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น การรวมกลุ่มพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เป็นระบบดิจิตอล
ในส่วนของการรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ผู้ว่า กฟผ.ระบุว่า ในปี 2567 กฟผ.จะสามารถรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ได้ถึง 6 แสนคันต่อวัน และต่อไปจะพัฒนาให้ชาร์จไฟได้ถึง 1 ล้านคันต่อวันทั่วประเทศ
นายวิลาส เฉลยสัตย์ ผู้ว่า กฟน.กล่าวว่า กฟน.มีแผนพัฒนา กฟน.ไปสู่ สมาร์ท เอเนอร์จี้ การพัฒนาสู่องค์กรที่ยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนการบริการให้เป็นดิจิตอลและโกกรีน โดยมีเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนให้ได้ 1 ล้านตัน ซึ่งในปี ค.ศ.2050 ไทยเราจะเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และขณะนี้ทาง กฟน.มี 24 สถานีชาร์จยานยนต์ 44 หัวชาร์จ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 254 สถานี รวม 278 สถานีทั่วเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ว่า จะมีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการแน่นอนและทาง กฟน.ได้คิดแผนการเรื่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าล่วงหน้าถึง 3 ปี ดังนั้นพี่น้องประชาชนควรจะสบายใจได้ว่าทางเราจะดูแลอย่างดีและเต็มที่แน่นอน
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่า กฟภ.เปิดเผยว่า กฟภ.ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ 74 จังหวัด ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ทาง กฟภ.ต้องรู้สถานะตัวเองเพื่อพัฒนาแหล่งไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งทาง กฟภ.กำลังทำเรื่องพลังงานสะอาดจาก แสงแดด น้ำ ลม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา ขณะนี้ กฟภ.มี 72 สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ากระจายใน 42 จังหวัดทั่วประเทศและต่อไปจะพัฒนาให้ได้ 190 สถานีทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย