รัฐสภา 20 เม.ย.-“สาธิต” เผย กมธ.กฎหมายลูก 2 ฉบับเพิ่มเวลาประชุม หลังโดนวันหยุดยาวหลายวัน เร่งให้เสร็จทันก่อนเปิดประชุมสภา 22 พ.ค. ย้ำตัวเครื่องมือต้องพร้อมรับอุบัตเหตุการเมืองทุกสถานการณ์ ส่วนปม “ไพรมารีโหวต” เขียนแล้วต้องทำได้จริง
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง รัฐสภา เป็นประธานประชุมกรรมาธิกรฯ นัดแรก ภายหลังหยุดการพิจารณาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2 สัปดาห์ โดยกรรมาธิการฯ ได้ขยายเวลาการประชุมจากเดิมตั้งแต่เวลา 09.30 – 14.30 น. เป็นเวลา 09.30 – 16.00 น. เพื่อให้แล้วเสร็จทันก่อนการเปิดสมัยประชุมวันที่ 22 พ.ค.นี้ เนื่องจากช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีวันหยุดราชการ
“ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง สมมติว่ามีปัญหาเสียงในสภาฯ กฎหมายนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปใช้ไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในทางออกของการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ตัวเครื่องมือจะต้องพร้อม เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าเครื่องมือไม่พร้อมและเกิดสถานการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุก็จะทำให้เกิดเดดล็อกที่ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ หากต้องไปออกพ.ร.ก.ก็อาจจะนำไปสู่การไม่ยอมรับของทุกฝ่าย” นายสาธิต กล่าว
ส่วนประเด็นปัญหาการทำไพรมารีโหวต ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นายสาธิต ยอมรับว่า ยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง แต่มีข้อถกเถียงว่าจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งอาจใช้แนวทางคนละครึ่งทาง อาจรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่ไม่ถึงขั้นต้องลงมติก็ได้ เพราะการออกกฎหมายต้องปฏิบัติได้จริง เพื่อไม่สร้างปัญหาใหม่ จากการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้
สำหรับกรณีที่ส.ว.บางคนประเมินว่าทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ ทางฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะทำให้การพิจารณากฎหมายลูกสะดุดหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสร็จภายใน 180 วัน ที่เราตั้งเป้าให้เสร็จเร็วก็เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะไม่เกิดเดดล็อกการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว และมาออกกฎหมายลูกเพื่อปฏิบัติได้จริงในกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เราจำเป็นต้องออกกฎหมายลูกให้ทัน
เมื่อถามว่า ประเมินแล้วจะไม่ถึงขั้นเดดล็อกใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลก็คงจะบริหารจัดการเสียงได้ตามที่เดินหน้ามา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการพิจารณาประเด็นปัญหาการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า อาจจะไม่ทันการพิจารณาในสัปดาห์นี้ เพราะยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องการพิจารณาก่อน.-สำนักข่าวไทย