กรุงเทพฯ 13 เม.ย. – เรื่องของค่าไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยอดค่าไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นมักจะทำให้มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
จากสถิติย้อนหลังของผู้ใช้ไฟในพื้นที่ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง จะพบว่าการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในรอบปี ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน อย่างเช่นค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของปี 2562 จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน
ปี 2563 จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม, ปี 2564 จะอยู่ในช่วงเดือนต้นเดือน มิถุนายน ซึ่งยังคงมีสภาพอากาศที่ร้อนอยู่ และปี 2565 ณ ปัจจุบัน การใช้ไฟฟ้ามากที่สุดก็ยังคงอยู่ในเดือนมีนาคมเช่นกัน
สาเหตุหลักที่ทำให้ฤดูร้อนมีการใช้ไฟฟ้ามากเพราะการใช้เครื่องปรับอากาศ ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น การสร้างแรงดันของคอมเพลสเซอร์นั้นจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อใช้ในการถ่ายเทความร้อน และสร้างความเย็นกลับเข้าไปภายในห้องของเรา ซึ่ง MEA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดสอบอัตราการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ พบว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิภายนอก 1 องศาเซลเซียส จะมีผลทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟเพิ่มขึ้นถึง 3%
ด้วยหลักการดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความเย็นชนิดอื่นๆ อย่างตู้เย็น ซึ่งในช่วงที่อากาศร้อนนั้น ตู้เย็นจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แม้จะเสียบปลั๊กใช้งานในระยะเวลาเท่าเดิม
เมื่อฤดูร้อนมีภาพรวมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง MEA จึงเตรียมพร้อมรองรับระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการ
โดยเฉพาะหัวใจสำคัญอย่างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA ทำหน้าที่เป็นระบบตรวจสอบสถานะและวิเคราะห์การทำงานระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งการส่งสัญญาณแจ้งเตือนแบบ Realtime ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ MEA เริ่มใช้เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ ปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีระบบการทำงานภาคสนามที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ หรือที่เรียกว่า FFM หรือ Field Force Management ช่วยรองรับการบริการด้านการแก้ไขระบบไฟฟ้าของ MEA ได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ และแก้ไขปัญหาได้ในระยะเวลาอันสั้น และเชื่อมโยงกับ MEA Smart Life Application ที่สามารถถ่ายภาพ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้ทันที
แม้ระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคง แต่การประหยัดไฟก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งตัวผู้ใช้ไฟฟ้าและภาพรวมของประเทศ ซึ่งสามารถทำด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การตั้งค่าแอร์ที่ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้โดยที่ยังคงความเย็นสบายเท่าเดิม รวมถึงการล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยให้การทำงานของแอร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากการประหยัดไฟแล้ว การตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการใช้พลังงานเกินความจำเป็น รวมถึงทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งเมื่อเราทุกคนสามารถประหยัดไฟได้แล้ว ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะไม่ใช่เพียงแค่ค่าไฟของเราที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย