กรุงเทพฯ 24 มี.ค. – ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย เชื่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ซ้ำเติมด้วยสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” จะส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเป็นไปได้ว่าจะเกิดภาวะ “เศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูง” หรือ Stagflation ทั้งยังส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนด้วย
ธนาคารกสิกรไทยยึดสัมมนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูง (Stagflation) ในภาวะสงคราม” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน และนายสิทธิธัช พุคยาภรณ์ ผู้ช่วยผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังถอยหลัง โดยได้รับผลกระทบจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วซ้ำเติมด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูง (Stagflation) หมายถึง ของแพงขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดทางด้านอุปทาน อีกทั้งมาตรการการคว่ำบาตรจากนานาชาติต่อรัสเซียจะทำให้สินค้าขาดแคลนจากตลาดโลกไปอีก สำหรับประเทศไทยที่มีความหวังต่อภาคการท่องเที่ยวว่า จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น มาตรการคว่ำบาตรจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยแน่นอนเพราะ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงนี้มาจากยุโรป
นางสาวกฤติกากล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะใช้วิธีแก้ปัญหาเงินเฟ้อตามวิธีที่เคยปฏิบัติมาซึ่งอาจจะบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของ Fed ในการขึ้นดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ท่ามกลางภาวะสงครามยูเครนจะส่งผลถึงตลาดการเงินโลก
นายสิทธิธัชกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกับภาวะการท่องเที่ยวที่ไม่สู้ดีนักจะกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อีกทั้งคาดว่า จะมีการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุนต่างชาติประมาณ 7.5หมื่นล้านบาทระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ส่วนค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวด้วยความผันผวนและไม่แน่นอน โดยน่าจะคลื่อนไหวระหว่าง 32.90 ถึง 34.20 ภายใน 1 เดือนข้างหน้า
สำหรับปัจจัยทั้งบวกและลบที่จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้นมีดังนี้
– ปัจจัยลบได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งยังไม่ทราบว่า จะจบลงเมื่อไร ภาวะเงินเฟ้อและแนวทางแก้ปัญหาของ Fed ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูง บัญชีเดินสะพัด การจ่ายเงินปันผลนักลงทุน และจำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19
-ปัจจัยบวกได้แก่ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาและเงินลงทุนจากต่างชาติจะเข้ามามากขึ้นเพราะนักลงุทนสนใจตลาดทุนที่กำลังเติบโต.-สำนักข่าวไทย