ทำเนียบฯ 10 มี.ค.- ศบค. แจงแบ่ง 4 ระยะเปลี่ยนผ่านก่อนรับรองให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เตรียมพร้อมรองรับทุกด้าน
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงว่า มีการแจ้งผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ต่อที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ ( 9 มี.ค.) ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และมีการพูดคุยถึงการแบ่งระยะเวลาการดำเนินการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นทั้ง 4 ระยะ โดยพิจารณาจากปัจจัยในหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบหรือผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ความครอบคลุมในการได้วัคซีน เป็นต้น โดยทั้งนี้ 4 ระยะ ประกอบด้วย 1.ระยะขาขึ้น หมายถึงการที่มีจำนวนของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยจะต้องควบคุม เพื่อลดการระบาดให้ได้มากที่สุด 2.ระยะคงที่ หมายถึง ระยะที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนคงที่ และไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นไปกว่าเดิม 3.ระยะที่มีการลดลงของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และ 4.ระยะที่ออกจากการเป็นโรคระบาดเข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่น
“การเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องพิจารณาจากปัจจัยการได้รับวัคซีนและอัตราการครองเตียง อัตราการเสียชีวิตรวมถึงการจัดแผนรองรับในด้านต่างๆ จะต้องมีความพร้อม ซึ่งในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ได้จัดการเรื่องการทำแผนการเฝ้าระวังป้องกันโรคการสอบสวนโรค และการดูแลรักษา รวมทั้งมาตรการต่างๆ ด้านกฎหมายที่จะต้องรองรับทั้ง 4 ระยะ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้จะต้องพิจารณาเป็นระยะ เพื่อความครอบคลุมในการดำเนินงานในทุกๆด้าน”พญ.สุมนี กล่าว.-สำนักข่าวไทย