กรุงเทพฯ 7 มี.ค.-ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.9 เหตุหลักจากเปิดเมือง และฤดูกาลท่องเที่ยว ราคาพุ่งมูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกว่า 81,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.5
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผย ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.9 เนื่องจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนหลังเทศกาลปีใหม่ ก็ส่งผลให้ยอดใช้กลุ่มเบนซิน ลดลงเมือเทียบกับเดือน ธันวาคม2564 โดยลดลง 0.63 ล้านลิตร/วัน
ทั้งนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.54 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.8 แยกเป็นกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 29.91 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.2, แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.04 ล้านลิตร/วัน15.79 ล้านลิตร/วัน 6.13 ล้านลิตร/วัน และ 0.95 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 75.87 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 24.4 การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า โดยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 6.94 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.99 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 75.5
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.19 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.7 เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.54 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.9 และการใช้ในภาคขนส่งอยู่ที่1.90 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.7 นอกจากนี้ การใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนอยู่ที่ 1.96 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.1 และ 5.78 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6 ตามลำดับ
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.18 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.7 โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง
ส่วน การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,015,944 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.9 โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 926,590 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการนำเข้าจากรัสเซียร้อยละ 1.2 (ปี 2564 การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็นร้อยละ 3.3 มูลค่าการนำเข้า 81,810 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.5
สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89,353 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7,468 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 150,897 บาร์เรล/วันหรือลดลง ร้อยละ 0.8 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,575 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.0 มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเดือนมกราคม 2565.-สำนักข่าวไทย