กรุงเทพฯ 2 มี.ค.-บมจ.ไออาร์พีซี คาด ไตรมาส 1 /2565 จะมีกำไรสตอกน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบดูไบใกล้แตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุนสร้างธุรกิจใหม่ คาดรายได้จากสินค้าเกรดพิเศษปีนี้เพิ่ม มีสัดส่วนจากกำลังผลิตเป็น 24 % ยืนยันกำลังผลิตปิโตรเคมีไม่ลด แม้ว่าจะชัตดาวน์โรงกลั่นปลายปีก็ตาม
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า จากกรณีวิกฤติสงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” ในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยไม่ได้พึ่งพาน้ำมันและก๊าซฯจากรัสเซีย แต่ได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้น โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประมาณ 2.8 ล้านบาร์เรล/วันส่งออกไปยุโรป หากถูกคว่ำบาตร ส่วนนี้ส่งออกไม่ได้ แต่หากทางกลุ่มโอเปกใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ 2-4 ล้านบาร์เรล/วันมาผลิตทดแทน รวมทั้งกรณีหากอิหร่านกลับมาส่งออกได้ ก็คาดว่าผลกระทบทางด้านกำลังผลิตที่หายไปคงไม่มากนัก แต่ก็จะมีผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น ส่งผลต้นทุนแนฟทาผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นด้วย แต่ราคาปิโตรเคมีก็ปรับตาม โดยภาพรวมแล้ว ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ ปีนี้ คาดจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ส่วนจะมีกำไรสตอกน้ำมันหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/65 คาดว่าจะมีกำไร
สตอก เพราะราคาในขณะนี้สูงกว่า สิ้นไตรมาส 4/64 ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปิดไปที่ 78.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ กลุ่ม ปตท.คาดการณ์ก่อนเกิดเหตุวิกฤติ “ยูเครน”ว่า ในไตรมาส1-2 ในปีนี้ ราคาดูไบจะอยู่ที่ 78-83 เหรียญ/บาร์เรล และมาร์จิ้น ของราคาดีเซล-เบนซิน คาดอยู่ที่ 12-14 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเดิมคาดการณ์อาจปรับลดลงบ้าง แต่ในขณะนี้ก็ปรากฏว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับเพิ่มตามราคาน้ำมัน
นายชวลิต กล่าวว่า ในปีนี้ โรงกลั่นไออาร์พีซีมีแผนซ่อมบำรุง ราวไตรมาส 3และ4 ทำให้กำลังกลั่นเฉลี่ยปีนี้จะลดลงเหลือ 1.8-1.85 แสนบาร์เรล/วัน จากปี 2564 กำลังกลั่น อยู่ที่ 1.92 แสนบาร์เรล/วัน แต่จะไม่กระทบกำลังผลิตปิโตรเคมีเพราะได้วางแผนเพิ่มกำลังกลั่นเพิ่มในไตรมาส 2มากกว่า 2 แสนบาร์เรล/วัน และวางแผนนำเข้าวัตถุดิบมาทดแทน ส่วนทางด้านการเงินปีนี้จะออกหุ้นกู้ไม่เกินไตรมาส2 /65 เพื่อลดผลพวงจากแนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่กำลังขยับขึ้น ซึ่งปริมาณคาดจะใกล้เคียงกับวงเงินที่จะคืนเงินกู้ในปีนี้ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้ปีนี้จะเติบโตกว่าปีที่แล้วหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จะทำแผนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนการลงทุนธุรกิจ 5 ปี (2022-2026) ในวงเงินรวม 41,350 ล้านบาท ตามกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งในฐานธุรกิจปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA 25,000 ล้านบาทในปี 2025 และ 35,000 ล้านบาทในปี 2030 มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนองค์กร สู่ความยั่งยืนในทุกมิติ สร้างคุณค่าร่วมต่อสังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลง 20% ในปี 2030 โดยวงเงินลงทุนดังกล่าวประมาณ35 % จะเป็นการเตรียมเงินสำหรับการลงทุนในอนาคตตามแผนงานซึ่งจะมีทั้งการร่วมทุนและการเข้าซื้อกิจการ และตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตที่เป็นสินค้าเกรดพิเศษราว 30 % ใน 5 ปีข้างหน้า โดยปีนี้จะเพิ่มเป็น 24 % จากปี 2564 อยู่ที่ราว 21 % และจะเพิ่มเป็น 55% ในปี 2030
“เราวางแผนดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ การต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง และการสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และต่อยอดความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งศึกษาไปพร้อมๆกันกลุ่ม ปตท. รองรับการคาดการณ์ที่คาดว่าจะมีการใช้น้ำมันในยานยนต์ลดลง ก็จะมองถึงทิศทางการพัฒนาเคมิคอล เฮสท์แคร์ การปรับตัวรองรับอีวี ซึ่ง ไออาร์พีซีได้เสนอพื้นที่บ้านค่าย จ.ระยองให้เป็นพื้นที่โรงงานประกอบรถยนต์อีวีของกลุ่ม ปตท. รวมทั้งเร่งพัฒนาเม็ดพลาสติกรองรับการผลิตอีวี และผลิตภัณฑ์อะเซทิลีนแบล็ก (acetylene black) เพื่อใช้ในลิเธียมแบตเตอรี นับว่าเป็นโอกาสของเรา”นายชวลิตกล่าว
โครงการลงทุนที่สำคัญ ใน 5 ปีนี้ เช่น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล ตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) มูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท โครงการ Strengthen IRPC เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร โครงการลงทุนทั่วไป และอื่นๆ ตลอดจนการพัฒนา จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1 ปี 2024 โดยแผนงานจะบูรณาการกระบวนการทำงานให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อตอบสนองลูกค้า และแสวงหาตลาดใหม่ เช่น การเข้าสู่ตลาด Advanced Material สำหรับวัสดุด้านสุขภาพ การแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Health & Life Science) การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การวิจัยและพัฒนาด้าน Energy Solution ให้สอดรับกับพลังงานในอนาคต (Future Energy) และระบบการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Energy Storage) เป็นต้น
ด้านความคืบหน้าโครงการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ ที่บริษัทฯ ถือหุ้น 60% ในการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 ปี 2022 เพื่อช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และยกระดับด้านสาธารณสุข และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย
ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับรางวัล S&P Global Sustainability Award 2022 ในระดับ Bronze Class ในกลุ่มอุตสาหกรรมการกลั่นและค้าน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Refining and Marketing) และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 สะท้อนความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาล รวมทั้งคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ให้เติบโตไปพร้อมกัน “IRPC สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต.-สำนักข่าวไทย