กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุ หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติลงโดยเร็ว โรงงานผลิตอาหารสัตว์อาจต้องยุติการผลิต แล้วส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วประเทศ ล่าสุดทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์และนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอแนวทางคลี่คลายปัญหาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า ส่งหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์และนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพราะหากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อจะส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในไทยต้องปิดลงเนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกัน 29% ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นจาก 8.91 บาท/กก. เป็น 12.75 บาท/กก. แล้ว
สำหรับโควตาที่รัฐอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีคือ ปีละ 1.6 ล้านตันคำนวณตามมาตรการ 3:1 หมายถึง ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน สามารถนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เฉลี่ยแล้วนำเข้าข้าวสาลีได้เดือนละ 1.5-1.8 แสนตัน แต่ขณะนี้ผู้ขายแจ้งว่า ไม่สามารถนำข้าวสาลีจากยูเครนขนส่งผ่านทะเลดำได้ ส่วนการส่งมอบตามการซื้อขายล่วงหน้ายังไม่แน่นอน ผู้ขายพยายามหาสินค้าทดแทนจากอินเดียและอาร์เจนตินา แต่เป็นสถานการณ์ที่ผู้ขายระบุว่า “เหนือวิสัย” ขณะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีสต๊อกวัตถุดิบ 2-3 เดือนจึงมีความเสี่ยงสูงว่า หากหาวัตถุดิบไม่ได้จะต้องหยุดการผลิตแน่นอน
นายพรศิลป์กล่าวต่อว่า ในหนังสือด่วนที่สุดที่ทำถึงรัฐบาล ได้เสนอเปิดช่องนำเข้าสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ข้าวสาลีซึ่งควรเป็นข้าวโพดที่สามารถนำเข้าจากอาร์เจนตินาและสหรัฐอเมริกาได้ โดยการนำเข้าดังกล่าวจะไม่กระทบกับเกษตรกรผู้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเนื่องจากความต้องการใช้ข้าวโพดอาหารสัตว์ทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน อีกทั้งราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยปัจจุบันสูงกว่าราคาตลาดโลก โดยอยู่ที่ 12 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับเพิ่มถึง 15 บาท/กก.
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในกำหนดให้อาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุมจึงไม่สามารถปรับราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ซึ่งหากผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ 50 กว่ารายในไทยไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้ หรือหามาผลิตได้ แต่ราคาแพงแล้วต้องขายขาดทุน หลายรายระบุว่า มีทางออกคือ ลดกำลังการผลิตและปิดสายการผลิตอาหารสัตว์บางส่วน จึงคาดว่า การผลิตอาหารสัตว์ในประเทศที่มี 22 ล้านตันต่อปี อาจเหลือเพียง 17-18 ล้านตัน โดยหายไปกว่า 4 ล้านตัน
นายพรศิลป์กล่าวว่า หากปริมาณอาหารสัตว์ลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์ เมื่อเกษตรกรงดเลี้ยงเพราะไม่มีอาหารสัตว์ จะทำให้ปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์ทั้งที่บริโภคในประเทศและส่งออกลดลงซึ่งจะเป็นผลให้ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นด้วยซึ่งทางแก้ได้เสนอไปยังรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ.-สำนักข่าวไทย