สธ. 23 ก.พ.- กรมอนามัย เผยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบเด็กป่วย 6,000 คน รับเชื้อจากผู้ปกครอง ได้แก่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช และสมุทรปราการ ขณะเดียวกันมีหญิงตั้งครรภ์ตาย 110 คน และมีเด็กตาย 66 คน พร้อมแนะวิธีดูแลเด็กป่วย ต้องทำให้ไข้ลดด้วยการเช็ดตัว มากกว่ากินยา
นพ. เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อในเด็กประถมวัย 0-5 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 64 – 17 ก.พ. 65 รวม 107,059 คน เสียชีวิต 29 คน เฉลี่ยกลุ่มอายุ ใน 5 ช่วงวัย 0-1 ปี ,2 ปี ,3 ปี, 4 ปี และ 5 ปี ประมาณปีละ 20,000 คน และในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบการติดเชื้อในเด็กสูงถึง 6,000 คน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช และสมุทรปราการ ทั้งเป็นการรับเชื้อมาจากผู้ปกครอง และ จากการประเมินโดยอนามัยอีเว้นท์ โพลล์ เรื่องความกังวล และพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิดภายในบ้านพบว่า 77% ไม่มีการประเมินตนเองในครอบครัว ทั้งการประเมินแบบทดสอบ thai save thai หรือ การตรวจหาเชื้อด้วย ATK มีเพียง 28% ที่มีการประเมินตนเอง รวมถึงบางครอบครัวยังละเลยการป้องกันตนเองมีการใช้สิ่งของ ภาชนะ หรือ อาหารร่วมกัน ไม่มีการแยกห้องน้ำ ซึ่งในส่วนของห้องน้ำเข้าใจว่าทำได้ยาก
นพ.เอกชัย กล่าวว่า ทั้งนี้การเฝ้าระวังการติดเชื้อในเด็กควรระวังในกลุ่มที่มีอายุกว่า 1 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำ ทั้งหัวใจ ปอด และ ภูมิคุ้มกันต่ำ ส่วนการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ก็พบว่า ตั้งแต่ช่วงการระบาดระลอก 3 เม.ย. 64 – ก.พ. 65 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 6,829 คน และเสียชีวิต 110 คน บางคนเป็นการเสียชีวิตทั้งกลม และมีบางส่วนที่ลูกรอด โดยพบว่ามีเด็กเสียชีวิต 66 คน ทั้งนี้พบว่า แม่ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ มีบางส่วนได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วแต่ก็ยังเสียชีวิต เนื่องจากมีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่า ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 115,000 คน แต่ยังมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ ครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์ ยังไม่ได้รับวัคซีนอีก 200,000 คน ย้ำการรับวัคซีนช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ลดความรุนแรงของโรค และ หากหญิงวัยเจริญพันธุกรรม เตรียมมีบุตรก็ขอแนะให้รับวัคซีนให้ครบก่อนตั้งครรภ์
นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการดูแลเด็กติดเชื้อโควิดว่า ส่วนใหญ่ของเด็กติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ดังนั้นต้องเน้นการเช็คตัว แบบทั้งตัวให้มากกว่า รับประทานยา โดยอาการที่พบในเด็กคือ มีไข้สูง 1-2 วันแรก และ อาจมีอาการไข้ ไอเจ็บคอ อ่อนเพลีย เหมือนหวัด แต่ เด็กโตหน่อยบางคนมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น เบื่ออาหาร แต่คนที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส หายใจแรง จมูกบาน ชายโครงบุ๋ม ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% เบื่ออาหารไม่ดูดนม ในเด็กเล็กต่ำกว่าปี ในเกณฑ์ดูดนม หากน้อยดูดน้อยกว่าปกติ ให้รีบพบแพทย์ เช่นเดียวกันในเด็กโตหน่อย ให้สังเกตการเล่นในเด็ก หากเด็กเล่นน้อยลงก็ให้รีบพบแพทย์ พร้อมย้ำ ในครอบครัวควรมีการสวมหน้ากากอนามัย และควรเว้นระยะห่างกัน 6 ฟุต การใส่หน้ากากในเด็กควรเริ่มฝึกสอนตั้งแต่อายุ 2 ปี และยืนยันเด็กสามารถตรวจ ATK ได้ โดยแนะการตรวจทางจมูก แหย่จมูกลึกแค่ 2 ซม.-สำนักข่าวไทย