สธ.3 ก.พ.- กรมวิทย์ฯ แจงภาวะเมทฮีโมโกลบิน จากการกินไส้กรอก มาจากการผสมสารไนไตรท์ เกินมาตรฐาน หวังถนอมอาหารและให้สีชมพู ในอาหาร ย้ำเลือกซื้อดูตรา อย.และแหล่งผลิต ที่น่าเชื่อถือ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณี เด็กนักเรียนเกิดภาวะเมทฮีโมโกลบิน จากการบริโภคไส้กรอกที่มีการผสมสารไนไตรท์เกินมาตรฐานว่า ภาวะเมทฮีโมโกลบิน คือภาวะที่เม็ดเลือดไม่สามารถนำออกซิเจนเข้าไป ในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายตัวเขียว เพราะขาดออกซิเจน และใจสั่น โดยร่างกายมีค่าเมทฮีโมโกลบิน ต้องไม่เกิน 1% ซึ่งการเกินภาวะเช่นนี้ มาจากกรณีที่ สารไนเตร์ท ที่ใช้ในการถนอมอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียคอสทิเดียม มีการใส่ไปในอาหารเกินค่ามาตรฐาน ที่กำหนดไว้ ปกติต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไนเตรท ต้องไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตไส้กรอก เบคอน กุนเชียงนิยมใส่สารเหล่านี้ลงไป เมื่อไนไตรท์กับเม็ดสีในเลือด คือ ไมโอโกลบิน (myoglobin) ผสมกันจะกลายเป็นไนโตรโซฮีโมโครม (nitrosohemochrome) ซึ่งเมื่อถูกความร้อนจะเปลี่ยนเป็น globin introso hemochrome ให้สีชมพู ที่คงตัวผลให้ไส้กรอกสีชมพู ดูน่ารับประทาน ทั้งนี้ปกติทางอย.ร่วมกับกรมวิทย์ฯ และสสจ.ได้ร่วมสุ่มตรวจอาหาร ปลอดภัย เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปนี้ มีการปนเปื้อนหรือไม่ โดยบางพื้นที่บพสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานถึง 1,000 มิลลิกรัม ที่ชลบุรี ทั้งนี้ ให้ผู้บริโภคเน้นการตรวจสอบสัญลักษณ์อย.ก่อนซื้อสินค้าทุกครั้งรวมถึงซื้อหาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและดูสีกายภาพของอาหารด้วย-สำนักข่าวไทย