กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์เรียกเจ้าหน้าที่สารวัตรและด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรอย่างเข้มงวด รวมทั้งจะตรวจคัดกรองโรค ASF ทั้งที่ฟาร์มและโรงฆ่าเพื่อไม่ให้เนื้อของหมูที่ติดเชื้อออกจำหน่าย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า เรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าสารวัตรและด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศเพื่อมอบนโยบายให้ควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) อย่างเข้มงวดซึ่งจะทำให้โรคสงบโดยเร็วตามนายกรัฐมนตรีสั่งการ โดยเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล รวมทั้งเป็นไปตามระบาดวิทยาของพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ การควบคุมโรคระบาดจึงเริ่มตั้งแต่สุกรมีชีวิตที่ฟาร์ม หากพบสุกรติดเชื้อ ASF ที่ป่วย ตายหรือสงสัยว่าติดเชื้อต้องห้ามเคลื่อนย้ายสุกรทั้งหมดตามรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบจุดพบโรค อีกทั้งสุกรทั้งหมดในจุดเกิดโรคต้องถูกกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบตามหลักการเพื่อทำลายเชื้อ ห้ามนำเข้าฆ่าเพื่อบริโภคโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อ ASF แพร่กระจายออกไป เนื่องจากเชื้อไวรัส ASF มีความทนทานอยู่รอดในสิ่งต่างๆ ได้ยาวนาน
สำหรับผู้เลี้ยงที่จะเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายที่ขออย่างถูกต้องทุกครั้ง ขอความร่วมมืออย่าปิดบังโรคเพราะจะทำให้ฟาร์มท่านคุมโรคไม่ได้ มีโรควนเวียนในฟาร์มอีกยาวนานยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่าเดิม โดยหวังลักลอบนำไปจำหน่ายซึ่งจะไม่คุ้มกับการที่รัฐชดเชยให้
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า แม้โรค ASF จะเกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่น แต่จะตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นทั้งที่ฟาร์มและโรงฆ่า จึงขอผู้บริโภคให้มั่นใจได้ว่าเนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทยมีความปลอดภัยรับประทานได้ตามปกติ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่าและหลังฆ่า (Post-mortem inspection) ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยอาการ ASF หรือโรคระบาดอื่นๆ เข้าผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งหากเนื้อจากสุกรที่สงสัยว่าติดเชื้อ ASF หลุดเข้าไปในตลาดจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างยากต่อการควบคุม.-สำนักข่าวไทย