กรุงเทพฯ 10 ม.ค.-บมจ.ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง จากความต้องการใช้น้ำมันแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติและอุปทานที่เพิ่มขึ้น
บมจ.ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้ (10-14 ม.ค. )จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 76-81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-84 ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวระดับสูง จากความต้องการใช้น้ำมันแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติและอุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ราคายังคงทรงตัวอยู่ระดับสูง จากปัญหาการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกพลัสยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด จากปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกบางประเทศ ท่ามกลางมติการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 586 แท่น โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐในปี 2564 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 235 แท่น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2565 ประจำเดือน ธ.ค. 64 ลดลง 2% จากการคาดการณ์ในรอบก่อนหน้าในเดือนพฤศจิกายน 2564 จาก 73.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สู่ระดับ 71.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงต้นปี 2565
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 ม.ค. 65) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเพิ่มขึ้น 3.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 80.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 417.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัสมีมติคงแผนการปรับเพิ่มการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตามข้อตกลง เนื่องจากทางกลุ่มเห็นพ้องว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลกระทบต่อตลาดไม่มากนัก -สำนักข่าวไทย