ทำเนียบฯ 4 ม.ค.-ครม. ปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เดินหน้าแผนก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-การคลัง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1 โดยปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับพิ่ม 20,700 ล้านบาท จากเดิม วงเงิน 1.344 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 1.365 ล้านล้านบาท ส่วนแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มขึ้น 22,941 ล้านบาท เป็น 362,233 ล้านบาท จากวงเงินเดิม ตาม 339,291 ล้านบาท ส่วนแผนบริหารหนี้เดิม ปรับปรุงเพิ่ม 31,588 ล้านบาท ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินรวมเพิ่มขึ้น 75,230 ล้านบาท จึงมอบหมายให้ บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบฯ 65 ปรับปรุงครั้งที่ 1 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าว
สำหรับ แผนการก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 700 ล้านบาท คือ แผนเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) 200 ล้านบาท และแผนเงินกู้ใช้หมุนเวียนของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) 500 ล้านบาท สำหรับอีก 20,000 ล้านบาท เป็นแผนเงินกู้เพื่อ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในส่วนของรัฐบาลไม่มีแผนการก่อหนี้ใหม่
ด้านการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้น 31,588 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วยแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล ปรับเพิ่มขึ้น 52,793 ล้านบาท และ แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ ปรับลดลงสุทธิ 21,204 ล้านบาท โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ออมสิน จากการปรับโครงสร้างหนี้ครบกำหนดในงบประมาณปี 66 วงเงิน 956 ล้านบาท ขสมก. ปรับลดวงเงินกู้ ธ. ออมสิน และ ธ. กรุงไทย จำนวน 5,222 ล้านบาท ธพส. ปรับเพิ่มสัญญาเงินกู้ ธ. กรุงไทย จำนวน 2,400 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ปรับลดวงเงินกู้โครงการจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ปีการผลิต 2551/2552/2555/2556 2556/2557) จากที่ได้ชำระคืนก่อนครบกำหนด วงเงิน 19,338 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนฯ เป็นการปรับเพิ่มวงเงินปปรับโครสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566-2569 เป็นหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยออกพันธบัตรรัฐบาล 60,000 ล้านบาท รวมทั้งการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนา เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
“ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียด ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยง ตามความเหมาะสม และจำเป็น หากรัฐวิสาหกิจ สามารถกู้เงินได้เอง ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง” นายธนกร กล่าว .-สำนักข่าวไทย