ทำเนียบฯ 4 ม.ค.- ครม.ผ่านงบประมาณรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ยังจัดทำงบขาดดุล 695,000 ล้านบาท ย้ำอยู่ในกรอบวินัยการคลัง นายกรัฐมนตรีสั่งทุกหน่วยงาน เร่งเครื่องขับเคลื่อนทุกมาตรการ ฟื้นเศรษฐกิจ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ประกอบด้วยงบประมาณ รายจ่ายประจำ 2.390 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 65 จำนวน 16,990 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.72 สัดส่วนร้อยละ 75.04 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สำหรับงบลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 83,066.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.57 สัดส่วนร้อยละ 21.82 ของวงเงินงบประมาณ
รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สำหรับประมาณการณ์รายได้สุทธิ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก งบประมาณปี 65 จำนวน 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75 รัฐบาลยังเดินหน้าจัดทำงบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 65 จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.71 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.89 ของจีดีพี โดยวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท อยู่ในกรอบวงเงิน ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ตามที่ ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบ ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ
นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการ ให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒฯ ธปท. ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการบริหารความเสี่ยง ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางสำหรับในแต่ละกรณีเป็นการล่วงหน้า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาล เช่น การเร่งสร้างรายได้ใหม่ตามมาตรการของรัฐบาล เช่น มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เข้าสู่ประเทศไทย (LTR) มาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมอนาคต (New S – curve) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจเกิดใหม่ (Startup)
การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยBCG Mode การติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ กำชับส่วนราชการใช้จ่ายงบให้เป็นไปตาม การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานและ ต้นทุนโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านแรงงาน การดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสม.-สำนักข่าวไทย